การสื่อสารและการพัฒนา


มนุษย์ย่อมมีการติดต่อสื่อสารกัน เพื่อทำให้รับรู้เรื่องราวอันมีความหมายร่วมกัน ทั้งเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต ร่วมทั้งการตอบสนองต่อกัน การรับรู้เรื่องราวของมนุษย์นั้นมักรับรู้โดยอาศัยคำพูด ภาษาท่าทาง และภาษาเขียน ส่วนการตอบสนองที่เกิดขึ้น มักเป็นผลที่สืบเนื่องตามมา เมื่อมนุษย์ได้รับรู้ความหมาย เช่น เมื่อได้ฟังคำพูดที่เชิงดูถูก สบประมาท ก็จะเกิดความโกรธ หรือรับจดหมายที่เพื่อนเล่าเรื่องราวความทุกข์ของเขา ผู้รับก็จะเกิดความรู้สึกสงสารอยากช่วยเหลือ เป็นต้น

ความหมายและองค์ประกอบของการสื่อสาร
การสื่อสาร หรือ การสื่อความหมาย (Communication) เป็นคำที่รากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า "communius" หมายถึง "พร้อมกัน" หรือ "ร่วมกัน" (common) หมายความว่า เมื่อมีการสื่อสารระหว่างกันเกิดขึ้น คนเราพยายามที่จะสร้าง "ความพร้อมกันหรือความร่วมกัน" ทางด้านความคิดเรื่องราวเหตุการณ์ ทัศนคติ ฯลฯ กับบุคคลที่เรากำลังสื่อสารด้วยนั้น ดังนั้น การสื่อสารจึงหมายถึง การถ่ายทอดเรื่องราว การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแสดงออกของความคิดและความรู้สึก ตลอดรวมไปถึง "ระบบ" (เช่น ระบบโทรศัพท์) เพื่อการติดต่อสื่อสารข้อมูลซึ่งกันและกัน (Webster's Dictionary 1978 : 98) นอกจากนี้ การสื่อสารยังเป็นการที่บุคคลในสังคมมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันโดยผ่านทางข้อมูลข่าวสาร สัญลักษณ์ตลอดจนเครื่องหมายต่าง ๆ ด้วย (Fiske 1985:2)
การสื่อสาร (Communication) หมายถึง กระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ผู้รับข่าวสารมีปฏิกริยาตอบสนองกลับมา โดยคาดหวังให้เป็นไปตามที่ผู้ส่งต้องการ องค์ประกอบของการสื่อสาร ประกอบด้วย 1. ผู้ส่งข่าวสาร (Sender) 2. ข้อมูลข่าวสาร (Message) 3. สื่อในช่องทางการสื่อสาร (Media) 4. ผู้รับข่าวสาร (Receivers) 5. ความเข้าใจและการตอบสนอง
ความหมายโดยสรุป การสื่อสาร หรือ การสื่อความหมาย เป็นการที่ผู้ส่งซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มชน หรือสถาบัน ถ่ายทอดเรื่องราว ข่าวสาร ข้อมูล ความรู้แนวความคิด เหตุการณ์ต่าง ๆ ฯลฯ โดยอาศัยสื่อหรือช่องทางในการถ่ายทอดไปยังผู้รับซึ่งเป็นบุคคล กลุ่มชน หรือสถาบัน เพื่อให้ผู้รับได้รับทราบข่าวสารร่วมกัน

วิธีการสื่อสาร
การใช้ภาษาเพื่อการติดต่อสื่อสารเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญของมวลมนุษย์ มีผู้กล่าวว่า ภาษาที่ใช้คือหัวใจของการสื่อสาร นั่นหมายถึง บทบาทและความสำคัญของภาษา ที่มีต่อการสื่อสารของมนุษย์ มนุษย์พัฒนาภาษาขึ้นใช้ในสังคมของตน และใช้สืบทอดติดต่อกันมาโดยลำดับ มนุษย์ใช้ภาษาเกือบตลอดเวลาเมื่อต้องการสื่อสารกับคนอื่น ส่วนภาษาที่ใช้อยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวันเพื่อสื่อสารกับคนในสังคมเดียวกันให้เข้าใจกันนั้นจะใช้ภาษา 2 แบบ คือ
1. การสื่อสารด้วยวาจา หรือ "วัจนภาษา" (Verbal Communication) คือการใช้ถ้อยคำเป็นตัวสื่อในการสื่อสาร เป็นกิจกรรมสื่อความหมายขั้นมูลฐานของมนุษย์ เป็นการใช้คำพูด หรือการเขียน เป็นสื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร ถ้อยคำเหล่านี้จะเป็นสัญลักษณ์ของความคิด มโนทัศน์ ความรู้สึก อารมณ์ ที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง หากในสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากัน มนุษย์มักเลือกใช้การพูดในการสื่อสาร เพราะมนุษย์สามารถที่จะโต้ตอบกันได้ แต่หากไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เผชิญหน้ากัน มนุษย์มักเลือกใช้การเขียนแทน เช่น การพูด การร้องเพลง เป็นต้น
2. การสื่อสารที่มิใช่วาจา หรือ "อวัจนภาษา" (Nonverbal Communication) และการสื่อสารด้วยภาษาเขียน (Written Communication) คือการไม่ใช้ภาษาถ้อยคำเป็นตัวสื่อ บางคนเรียกว่าภาษาท่าทาง ผู้รับสารอาจสังเกตจากการมองเห็น น้ำเสียงหนักเบา ความสูงต่ำของเสียง ความรู้สึกจากการชิมรส ได้กลิ่น เช่น เด็กเล็กๆ เข้าใจว่าพ่อแม่รักตนหรือไม่ก็ดูจากสีหน้า การยิ้ม น้ำเสียง การโอบกอด เป็นต้น
ประเภทของอวัจนภาษา
อวัจนภาษาสามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้
1. เทศภาษา (Proxemics) หมายถึง ลักษณะของสถานที่ ระยะห่างของการนั่งและตำแหน่ง ที่นั่ง เทศภาษาเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งบอกถึงลักษณะพฤติกรรม ความสัมพันธ์ ความสำคัญของบุคคล ตลอดจนวัฒนธรรมของบุคคลในการสื่อสาร
นอกจากนั้น ตำแหน่งที่นั่งก็จะเป็นเทศภาษาที่บ่งบอกถึงความสำคัญของบุคคลที่นั่ง ณ ที่นั้นได้ เช่น ประธานในพิธีต่างๆ นั่งที่ชุดรับรองแขกชุดใหญ่ในตำแหน่งที่เด่นที่สุดของงาน ประธานในที่ประชุมนั่งที่หัวโต๊ะในการรับประทานอาหาร
2. กาลภาษา (Chronemics) การใช้เวลาเป็นตัวบ่งบอกแทนคำพูด เวลาในที่นี้ หมายถึง ช่วงเวลา ระยะเวลา การตรงเวลา การให้ความสำคัญต่อเวลา เป็นต้น
เวลาในแต่ละช่วงจะสื่อความหมายแตกต่างกัน เช่น การมีเสียงโทรศัพท์ดังในยามวิกาล จะทำให้ผู้รับรู้สึกวิตกกังวล ตื่นเต้นหรือหวาดกลัว เพราะโดยปกติแล้วในยามวิกาลจะไม่นิยมโทรศัพท์ถึงกัน ยกเว้นจากมีเรื่องด่วนหรือเรื่องสำคัญมาก
การที่บุคคลจะไปพบปะใครควรดูห้วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการไปเวลาใด เช่น เวลาที่รับประทานอาหาร เที่ยงถึงบ่ายโมง หรือหกโมงเย็นถึงทุ่มครึ่ง ไม่ควรนัดหมายเพื่อขอพบหรือไม่ควรนัดคุยเรื่องงานหลังเวลาราชการ ยกเว้นกรณีพิเศษที่มีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน
การเชิญประชุมหรือเชิญไปงานในโอกาสพิเศษ ระยะเวลาที่เจ้าภาพบอกเชิญจะเป็นกาลภาษาอย่างหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า เจ้าภาพจริงใจ เต็มใจที่จะเชิญหรือไม่ หากบอกกล่าวเนิ่นๆ แสดงให้เห็นว่าต้องการให้ไป หากบอกกะทันหันอาจตีความหมายอื่นได้
การตรงต่อเวลาเป็นกาลภาษาที่แสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติกัน การเห็นความสำคัญของงาน หรือความสำคัญของกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะพฤติกรรมของคนและวัฒนธรรมของสังคมด้วย เราจะพบว่าวัฒนธรรมของสังคมตะวันตก จะให้ความสำคัญต่อเวลามาก การจะพบปะใครต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า และต้องไปตรงเวลาในทุกเรื่อง ซึ่งต่างกับวัฒนธรรมไทยที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเวลาและความสำคัญของการนัดหมายล่วงหน้า
3. เนตรภาษา (Oculesics) หมายถึง อวัจนภาษาที่เกิดจากการใช้ดวงตาหรือสายตาเพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้พูด ในการสนทนากันทั้งผู้พูดและผู้ฟังมักจะมองหน้ากัน เวลามองหน้านั้น จุดสำคัญคือมองที่ดวงตา มีสำนวนกล่าวว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ” ความรู้สึกภายในของมนุษย์มักแสดงออกมาทางดวงตา และเป็นการแสดงที่ชัดเจนที่สุด ที่ยากในการกลบเกลื่อน บางครั้งมนุษย์กลบเกลื่อนความรู้สึกได้ทางสีหน้า จึงมีสำนวนว่า “ดูหน้าไม่รู้ใจ” แต่สำหรับดวงตายากในการที่จะปกปิดความรู้สึกได้ จากหลักการนี้จึงนำไปใช้ในการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ทีมีพิรุธ ไม่จริงใจ หรือไม่บริสุทธิ์ใจ ก็จะไม่กล้าประสานสายตา มักหลบตาเสมอ
4. อาการภาษา (Kinesics) คือ อวัจนภาษาในรูปของการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อความสามารถ ได้แก่ การเคลื่อนไหวร่างกาย ศรีษะ แขน ขา มือ สีหน้า ท่าทาง เป็นต้น อาการภาษาที่มนุษย์ใช้กันอยู่ย่อมแตกต่างกันตามลักษณะธรรมชาติของบุคคล การศึกษาอบรม ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของสังคม เช่น สังคมไทยพบกันจะยกมือไหว้ เป็นอาการภาษาที่สื่อถึงความเคารพนบนอบ สังคมตะวันตกจะสัมผัสมือเป็นการทักทาย การนั่ง สังคมไทยจะนั่งสำรวมหรือนั่งพับเพียบ หากนั่งเก้าอี้ก็จะไม่นิยมไขว่ห้าง ซึ่งต่างกับสังคมตะวันตกที่นิยมนั่งไขว่ห้าง หรือยกเท้าขึ้นบนโต๊ะ การรับของจากผู้ใหญ่ ผู้น้อยต้องรับอย่างนอบน้อม ย่อตัวหรือค้อมตัวรับ หากจะรับของพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน ต้องแสดงความเคารพก่อนเข้ารับพระราชทานของ โดยยื่นแขนออกไป พร้อมกระดกข้อมือแล้วหงายมือซ้อนรับของนั้นๆ ในสังคมไทยเรียกอาการดังกล่าวว่า “การเอางาน”
การใช้สีหน้าก็เช่นกัน เป็นอาการภาษาที่บ่งบอกความรู้สึกภายในของผู้พูดได้อย่างชัดเจน ในการสนทนาคู่สนทนาจึงนิยมมองหน้ากันเพื่ออ่านความรู้สึกหรือปฏิกิริยาโต้ตอบ การแสดงออกทางสีหน้ามีหลายลักษณะ เช่น โกรธ ไม่พอใจ เหนื่อยหน่าย ดูถูก ง่วงนอน ดีใจ เสียใจ อาฆาต ริษยา ตั้งแง่ เป็นต้น การแสดงออกทางสีหน้ามักจะเป็นไปตามความรู้สึกอารมณ์ชนะนั้นๆ บางคนสามารถควบคุมได้ดี การแสดงทางสีหน้าไม่ชัดเจน ทำให้คู่สนทนาไม่สามารถอ่านความรู้สึกได้ แต่บางคนไม่อาจควบคุมการแสดงออกทางสีหน้าได้ ทำให้ผู้อื่นทราบถึงความคิด อารมณ์ที่แท้จริงของตน ซึ่งทำให้เสียเปรียบคู่สนทนาได้ในบางกรณี
การใช้มือก็เช่นกัน คู่สนทนาจะอ่านความหมายจากการใช้มือนั้นๆ ได้ เช่น การยกมือในห้องประชุมในชั้นเรียน มีความหมายว่าขออนุญาตพูด การชี้ไปยังบุคคลหรือสิ่งของเป็นการระบุ การโบกมือ แสดงถึงการอำลา การกวักมือแสดงการเรียก เป็นต้น
5. สัมผัสภาษา (Haptics) หมายถึง อวัจนภาษาที่ใช้อาการสัมผัสเป็นตัวสื่อความรู้สึก อารมณ์ ตลอดจนความหมายจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร สัมผัสภาษาที่มนุษย์ใช้กันอยู่ย่อมแตกต่างกันตามลักษณะ ธรรมชาติของมนุษย์ การศึกษาอบรม ตลอดจนวัฒนธรรมของสังคม ในสังคมตะวันตกใช้สัมผัสภาษาในวงกว้างกว่า เช่น การสัมผัสมือ ในบุคคลที่เพิ่งรู้จักกัน การจูบสำหรับบุคคลที่รักใคร่หรือคนสนิท การโอบกอด ในที่สาธารณะต่างๆ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกสำหรับสังคมตะวันตก แต่สำหรับสังคมตะวันออก การใช้สัมผัสภาษามีขอบเขตจำกัดกว่า เช่น การกอดจูบก็จะทำเฉพาะบุคคลที่รักใคร่กันเท่านั้น หรือการโอบกอดที่แสดงความรักก็ไม่นิยมทำกันอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ เป็นต้น
ในบางสถานการณ์สัมผัสภาษาใช้ได้ดีกว่าการพูด เช่น การปลอบประโลมผู้ที่กำลังอยู่ในความทุกข์ใช้สัมผัสมือเบาๆ ที่มือ การสัมผัสที่บ่า การตบบ่าเบาๆ เพื่อให้กำลังใจแก่เพื่อนที่กำลังมีความทุกข์ การกุมมือ บีบมือ ยามที่เพื่อนมีความทุกข์ เป็นต้น สัมผัสภาษาเหล่านี้ใช้แทนการพูดเป็นการถ่ายทอด ความรู้สึกผ่านการสัมผัส ซึ่งจะทำให้ผู้รับสารเกิดความซาบซึ้งความตื้นตันใจได้อย่างดี
6. วัตถุภาษา (Objectics) หมายถึง อวัจนภาษาที่เกิดจากการเลือกวัตถุมาแสดงความหมายหรือส่งสารที่ต้องการสื่อ วัตถุภาษาในที่นี้หมายรวมถึง เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น
เสื้อผ้าที่มนุษย์นำมาใช้ในการแต่งกาย ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง ขนาด สี ลักษณะของผ้า ล้วนเป็นอวัจนภาษาที่บ่งบอกความหมายบางประการอยู่ในตัว ลักษณะและราคาของผ้าก็จะบ่งบอกถึงฐานะของผู้สวมใส่ได้ด้วย เช่น ผู้ที่สวมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าไหม ไหมมัดหมี่ ผ้าตีนจก ก็จะแสดงถึงฐานะหรือรสนิยมของผู้ใช้ หรือบุคคลที่ต่างวัยกันจะเลือกใช้เสื้อผ้าที่ทำจากวัตถุต่างกัน เช่น วัยรุ่นไม่นิยมใช้ผ้าไหม ผ้าลูกไหม สีสันของเสื้อผ้าก็เช่นกัน ก็จะบ่งบอกถึงรสนิยม การรู้จักกาละเทศะของผู้สวมใส่ด้วย เช่น สีดำใช้ใส่ในงานศพ หากสวมใส่สีอื่นก็แสดงถึงการไม่รู้จักกาลเทศะ ส่วนในงานรื่นเริง สังคมไทยไม่นิยมใช้สีดำ ต่างกับตะวันตกเห็นว่าการใช้เสื้อผ้าสีดำไปในงานนั้นแสดงถึงความภูมิฐานและเป็นทางการ นอกจากนั้นเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็เป็นอวัจนภาษาที่บ่งบอกความเป็นเชื้อชาติโดยไม่ต้องใช้คำพูด เช่น ชุดไทย เสื้อพระราชทานแสดงความเป็นคนไทย ชุดกิโมโนของชาวญี่ปุ่น ชุดกี่เพ้าของชาวจีน ชุดส่าหรีของชาวอินเดีย อีกทั้งเสื้อผ้าก็ยังบ่งบอกความแตกต่างของแต่ละอนุวัฒนธรรมด้วย เช่น เสื้อผ้าชุดชาวเขา มูเซอ กะเหรี่ยง เป็นต้น
7. ปริภาษา (Paralanguage หรือ Vocalics) หมายถึง อวัจภาษาที่เกิดจากการใช้น้ำเสียงประกอบคำพูด น้ำเสียงที่เปล่งออกมานั้นไม่ใช่ถ้อยคำ แต่แนบสนิทโดยรอบของถ้อยคำจนยากที่จะแยกออกจากถ้อยคำได้ น้ำเสียงในการสื่อสารระหว่างบุคคล ได้แก่ การพูดห้วนสั้น จังหวะช้าเร็ว ความสูงต่ำของเสียง ตลอดจนความดังค่อยของเสียง จะเป็นตัวสื่อให้รู้ว่าผู้พูดมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นใด เช่น การพูดด้วยน้ำเสียงห้วนสั้น แสดงถึงความไม่พึงพอใจ การใช้อำนาจ การพูดเสียงสูงต่ำจะแสดงอารมณ์ของผู้พูด เช่น การพูด เสียงสูงแสดงถึงความไม่เชื่อถือไม่มั่นใจ เสียงต่ำแสดงความคลางแคลง หรือพูดเสียงดัง แสดงความมีอำนาจหรือต้องการใช้อำนาจ พูดเสียงเบาแสดงถึงความไม่มั่นใจ
จากแบบของภาษาดังกล่าว เรายังใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารในกรณีต่างๆ ดังนี้
1. การสื่อสารในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การติดต่อกันอย่างสามัญโดยใช้การพูด การฟัง การอ่าน การเขียน เป็นการใช้ “วจีกรรม” หรือ speechacts คือ ใช้ภาษาเพื่อให้ผู้อื่นทำตามที่ตนบอกหรือสั่งทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การพูดทางโทรศัพท์ การสนทนากับเพื่อนบ้าน การบอกช่างประปามาซ่อมรอยรั่ว การนัดช่างไฟฟ้ามาติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การสั่งซื้อสินค้า การสั่งอาหารตามภัตตาคาร การนัดหมายกับเพื่อนๆ ฯลฯ ส่วนทางด้านการฟัง เป็นพฤติกรรมควบคู่กับการพูด นอกจากนั้นยังมีการฟังจากสื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ การฟังประกาศ ฯลฯ ทางด้านการอ่านในชีวิตประจำวันที่ใช้มากที่สุด คือ การอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านป้ายประกาศ ป้ายโฆษณา สลากยา จดหมาย หนังสือเรียนจากโรงเรียนของบุตรหลานฯลฯ การเขียนในชีวิตประจำวัน มักจะเป็นการเขียนข้อความสั้นๆ ในบันทึกส่วนตัว บันทึกรายการซื้อของ บันทึกรายการธุระที่จะต้องกระทำ การเขียนจดหมาย การกรอกแบบฟอร์ม การอ่านสำรวจคุณสมบัติสินค้าใหม่ ฯลฯ
การสื่อสารในชีวิตประจำวันมักจะไม่มีความสลับซับซ้อน ทั้งด้านเนื้อหาสาระและการใช้ถ้อยคำของภาษาก็ไม่ยุ่งยาก ถึงกระนั้นก็ตามภาษาในชีวิตประจำวันกลับกลายเป็นภาษาที่เปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาของคนหนุ่มสาวและเด็กวัยรุ่น ที่มักจะค้นพบคำแปลกใหม่ที่คิดขึ้นเองด้วยวิธีปรับเปลี่ยนจากคำเก่าๆ บ้าง ตัดหรือต่อเติมบ้าง นอกจากนี้จะมีศัพท์ฟังเสียงแปลกๆ เกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่นอีกมากมาย เช่น นิ๊ง เนี๊ยบ ปิ๊ง ฯลฯ เป็นคำที่บุคคลเหล่านี้ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน บางคำก็นิยมใช้กันเป็นเวลาหลายปี บางคำก็ใช้เพียงชั่วครู่ยามก็เลิกใช้ ปล่อยให้หายไป คนวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยจะมีคำใหม่ประจำรุ่น แล้วคำเหล่านั้นก็หายไป คนรุ่นใหม่ก็คิดคำใหม่ใช้กันอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป
2. การสื่อสารเพื่อการปฏิบัติงาน ในที่นี้หมายถึง การสื่อสารเพื่อการทำกิจธุระส่วนตัว และกิจการต่างๆ ในการงานอาชีพ ซึ่งมีความจำเป็นขั้นต้นคล้ายคลึงกัน ผู้ที่ทำงานอาชีพส่วนมากต้องการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน ถ้อยคำภาษาที่จะใช้ต้องมีพลังเร้าใจ หรือโน้มน้าวจิตใจได้ ต้องใช้คำประหยัดและมีความหมายชัดเจนแน่วแน่ ไม่กำกวม เช่น ต้องการสั่งซื้อสินค้า ต้องบอกชนิดสินค้าอย่างชัดเจน รหัสประจำสินค้า สี ขนาด จำนวน สถานที่ส่งสินค้า วิธีส่ง วิธีชำระเงิน ฯลฯ ในการปฏิบัติงานโดยทั่วไปมักจะใช้การพูด การสนทนา การเจรจาต่อรอง การอธิบายเหตุผล การชี้แจงข้อมูลข่าวสาร การพูดอภิปรายในที่ประชุม ฯลฯ ส่วนการเขียนมักจะใช้การบันทึกข้อความจากโทรศัพท์การเขียนโทรเลข จดหมาย เทเล็กซ์ บันทึกช่วยจำ แบบกรอกข้อความ คำสั่ง ประกาศ รายงาน ฯลฯ ซึ่งควบคู่ไปกับการอ่าน
การใช้ภาษาในการปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธี เพราะถ้อยคำภาษาในอาชีพที่ต่างกันก็ย่อมมีความแตกต่างกัน เป็นภาษาเฉพาะอาชีพ บางครั้งภาษาเหล่านี้อาจจะขัดแย้งกับกฎระเบียบในไวยากรณ์ เช่น ช่างก่อสร้างกล่าวถึง “อกไก่” ย่อมเข้าใจถึงส่วนประกอบของบ้าน แต่ในภาษาธรรมดาจะเข้าใจถึงเนื้ออกของไก่ ช่างต่อเรือจะระมัดระวัง “กระดูกงู” เพราะเป็นโครงสร้างที่สำคัญที่สุดของเรือ ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นภาษาเพื่อการปฏิบัติงานในบางอาชีพจึงเป็นภาษาที่ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ
3. การสื่อสารเชิงวิชาการ การสื่อสารเชิงวิชาการมีความยุ่งยากในการใช้ถ้อยคำยิ่งกว่าภาษาเฉพาะอาชีพดังกล่าวแล้ว เพราะนักวิชาการจำเป็นต้องใช้ศัพท์เฉพาะด้านในวิชาการสาขาของตน เพราะทำให้การติดต่อสื่อสารกระชับ รวดเร็ว แม่นยำ ตรงตามความหมายที่ต้องการ
ศัพท์วิชาการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นคำภาษาต่างประเทศ บางคำเข้ามาในภาษาไทยเป็นเวลานานจนลืมว่ามาจากภาษาใด เช่น คำ บักเตรี มาจากภาษาฝรั่งเศษ แพทย์แผนไทยใช้คำนี้ในตำรา และในการสื่อความหมายมานาน
วิชาการทุกสาขาจะมีศัพท์เฉพาะด้านเพื่อสื่อสารในวงวิชาการ คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ และมักเห็นเป็นความยุ่งยากไม่จำเป็น ในการสื่อสารเชิงวิชาการมีเรื่องที่ควรระมัดระวังก็คือ คำที่เหมือนกันแต่ความหมายแตกต่างกัน
4. การสื่อสารเพื่อแสดงความคิดและอารมณ์ ตามปกติในสารที่ผู้ส่งสารสื่อออกไป บางครั้งก็แสดงความคิดและอารมณ์ปะปนไปด้วย และบางครั้งก็มุ่งให้เกิดการกระทบอารมณ์ของผู้รับสาร บางครั้งก็เป็นการสื่อสารเพื่อแสดงความคิดเพียงอย่างเดียว และบางครั้งก็เป็นการแสดงอารมณ์เพียงอย่างเดียว การสื่อสารประเภทนี้ถ้าเป็นการสื่อสารอย่างสามัญก็ค่อนข้างอันตราย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายได้ เช่น ทำให้ผู้ฟังโกรธต่อต้าน ไม่ร่วมมือกับผู้พูด เป็นต้น อารมณ์ที่แสดงออกทางภาษามีทุกชนิด ทั้งดีและไม่ดี เช่น ความชื่นชอบ ความสุข ความยินดี ความโกรธแค้น ความริษยา ถ้าผู้ส่งสารใช้ชั้นเชิงศิลปะสูงก็อาจรอดพ้นอันตรายได้ และถ้าเป็นศิลปะขั้นวรรณศิลป์ที่แยบยลก็อาจจะกลายเป็นวรรณคดี ซึ่งเร้าอารมณ์สะเทือนใจได้เป็นอย่างดี
การแต่งวรรณคดีเร้าอารมณ์ ต้องการผู้ส่งสารที่มีกลศิลป์ชั้นสูงในการใช้ภาษาแสดงความคิดและอารมณ์ ผู้ที่มีความคิดมากหลากหลาย มักจะต้องการถ้อยคำต่างๆ เพื่อสื่อความคิด บางครั้งถ้อยคำธรรมดาสามัญและถ้อยคำที่มีอยู่ก่อนแล้วไม่สามารถทำหน้าที่สื่อความคิดและอารมณ์ของผู้ส่งสาร ซึ่งมักจะเป็นกวีหรือนักเขียน ดังนั้นกวีหรือนักเขียนจึงต้องสรรหาถ้อยคำแปลกๆ มาใช้ บางครั้งก็สร้างคำขึ้นใหม่เป็นพิเศษเพื่อสื่อความคิดและอารมณ์พิเศษ กวีและนักเขียนมิได้มุ่งหวังจะสร้างคำใหม่เพื่อให้เป็นคำสามัญที่คนทั่วไปจะยอมรับนำไปใช้ เพราะเขาคิดคำเพื่อใช้เฉพาะตัวเอง ดังนั้นถ้อยคำสำนวนของกวีและนักเขียนจึงได้สื่อสารได้ในวงจำกัด ในบางโอกาสและในบางสถานที่ เช่น ในบทกวีนิพนธ์ ในนวนิยาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าการใช้ภาษาในวรรณคดีเป็นการใช้ภาษาชั้นสูงที่แฝงไว้ด้วยศิลปะความงาม ความประณีตและแสดงภูมิปัญญาชั้นสูง
สรุปได้ว่าการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของการสื่อสาร ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน และมีการเปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้าง เร็วบ้างช้าบ้าง เช่น ราชาศัพท์และภาษาราชการเปลี่ยนแปลงช้า และภาษาในชีวิตประจำวัน ในวงการธุรกิจและวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีกลับเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะได้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมากมายและรวดเร็ว จำเป็นต้องหาถ้อยคำมาอธิบายชี้แจง และเรียกสิ่งใหม่นั้นให้ทันท่วงที

เป้าหมายของการสื่อสาร
การสื่อสารจะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ส่งสารและผู้รับสารจะสามารถเข้าใจสิ่งที่สื่อสารและสามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ในการสื่อสารนั้นๆ ดังนั้นการสื่อสารที่ดีจึงต้องคำนึงถึงเป้าหมายของการสื่อสารเป็นสำคัญด้วย
การสื่อสารตรงตามเป้าหมายที่กำหนด หมายถึง การรับรู้เรื่องราวร่วมกันได้อย่างถูกต้องตรงกัน ร่วมทั้งเกิดการตอบสนองตรงตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตามการสื่อสารให้บรรลุเป้าหมายไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก และเรามักพบเห็นความล้มเหลวของการสื่อสารเสมอ ไม่ว่าจะในครอบครัว ในหน่วยงาน ในกลุ่มสังคม หรือแม้แต่ระดับประเทศ
นักทฤษฎีการสื่อสารต่างมีความเห็นตรงกันว่า วิถีทางสำคัญที่สุดจะช่วยให้มนุษย์สามารถควบคุมการสื่อสารที่ตนเกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายได้ก็คือ การทำความเข้าใจในกระบวนการและองค์ประกอบของการสื่อสาร เพราะถ้าเข้าใจในเรื่องดังกล่าวแล้ว จะช่วยให้การสื่อสารบรรลุเป้าหมายได้ รวมทั้งยังช่วยให้สามารถแก้ไขข้อบกพร่องหรือพัฒนาองค์ประกอบของการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเภทของการสื่อสาร
ประเภทของการสื่อสาร แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1. การสื่อสารในตนเอง (Intapersonal or Self-Communication) เป็นการสื่อสารภายในตัวเอง หมายถึง บุคคลผู้นั้นเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับในขณะเดียวกัน เช่น การเขียนและอ่านหนังสือ เป็นต้น
2. การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) เป็นการสื่อสารระหว่างคน 2 คน เช่น การสนทนา หรือการโต้ตอบจดหมายระหว่างกัน เป็นต้น
3. การสื่อสารแบบกลุ่มชน (Group Communication) เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลกับกลุ่มชนซึ่งประกอบด้วยคนจำนวนมาก เช่น การสอนในห้องเรียนระหว่างครูเพียงคนเดียวกับนักเรียนทั้งห้อง หรือระหว่างกลุ่มชนกับบุคคล เช่น กลุ่มชนมาร่วมกันฟังคำปราศรัยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
4. การสื่อสารมวลชน (Mass Communication) เป็นการสื่อสารโดยการอาศัยสื่อมวลชนประเภทวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่น นิตรสาร หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ แผ่นโปสเตอร์ ฯลฯ เพื่อการติดต่อไปยังผู้รับสารจำนวนมากซึ่งเป็นมวลชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารเดียวกันในเวลาพร้อม ๆ หรือไล่เรี่ยกัน

องค์ประกอบของการสื่อสาร
1. ผู้ส่ง ผู้สื่อสาร หรือต้นแหล่งของการส่ง (Sender, Communicatior or Source) เป็นแหล่งหรือผู้ที่นำข่าวสารเรื่องราว แนวความคิด ความรู้ ตลอดจนเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งไปยังผู้รับซึ่งอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มชนก็ได้ ผู้ส่งนี้จะเป็นบุคคลเพียงคนเดียว กลุ่มบุคคลหรือสถาบัน โดยอยู่ในลักษณะต่าง ๆ ได้หลายอย่าง หรืออาจกล่าวได้ว่า
ก. การติดต่อสื่อสารทั้งหมดจะต้องมาจากแหล่งข่าวสาร
1. แหล่งนี้อาจจะออกมาจากคนๆ เดียว
2. แหล่งนี้อาจจะออกมาจากบุคคลคณะหนึ่ง…หรือสถาบัน
ข. มีหลายอย่างที่จะชี้ให้เห็นว่า แหล่งข่าวสารจะปฏิบัติงานอย่างไรในกระบวนการติดต่อสื่อสาร
1. ความชำนาญในการติดต่อสื่อสารของเขา ความสามารถที่จะคิด ที่จะเขียน ที่จะวาด ที่จะพูด ฯลฯ
2. ทัศนคติของเขาที่มีต่อผู้รับข่าวสาร หัวข้อเรื่องที่ทำการส่งออกไป ตัวเขาเอง ส่วนประกอบอื่นๆ ที่มีอยู่ในสถานการณ์ในขณะที่ทำการติดต่อสื่อสาร
3. ความรู้ของเขาเกี่ยวกับ เรื่อง ผู้รับข่าวสาร ฯลฯ
4. ระบบสังคม
ในกระบวนการติดต่อสื่อสาร เราเริ่มต้นจากแหล่งข่าวหรือจากผู้ที่เริ่มต้นให้งานเดิน เราคงไม่ลืมว่ามีหลายสิ่งดังกล่าวข้างต้น ที่ทำให้แหล่งข่าวเริ่มต้นส่งความหมายได้ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าเราจะตรวจสอบตัวของเราเองในฐานะที่เป็นแหล่งของการติดต่อสื่อสารและประเมินผลของการติดต่อสื่อสารของข่าวสารที่เราได้รับในแง่ที่ว่า เรารู้จักแหล่งข่าวนั้นๆ เพียงใด
2. เนื้อหาเรื่องราว (Message) ได้แก่ เนื้อหาของสารหรือเรื่องราวที่ส่งออกมา เช่น ความรู้ ความคิด ข่าวสาร บทเพลง ข้อเขียน ภาพ ฯลฯ เพื่อให้ผู้รับรับข้อมูลเหล่านี้
3. สื่อหรือช่องทางในการนำสาร (Media or Channel) หมายถึง ตัวกลางที่ช่วยถ่ายทอดแนวความคิด เหตุการณ์ เรื่อราวต่าง ๆ ที่ผู้ส่งต้องการให้ไปถึงผู้รับ
4. ผู้รับหรือกลุ่มเป้าหมาย (Receiver or Target Audience) ได้แก่ ผู้รับเนื้อหาเรื่องราวจากแหล่งหรือที่ผู้ส่งส่งมา ผู้รับนี้อาจเป็นบุคคล กลุ่มชน หรือสถาบันก็ได้
5. ผล (Effect) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ส่งส่งเรื่องราวไปยังผู้รับ ผลที่เกิดขึ้นคือ การที่ผู้รับอาจมีความเข้าใจหรือไม่รู้เรื่อง ยอมรับหรือปฏิเสธ พอใจหรือโกรธ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นผลของการสื่อสาร และจะเป็นผลสืบเนื่องต่อไปว่าการสื่อสารนั้นจะสามารถบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้รับ สื่อที่ใช้ และสถานการณ์ในการสื่อสารเป็นสำคัญด้วย
6. ปฏิกริยาสนองกลับ (Feedback) เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องจากผลซึ่งผู้รับส่งกลับมายังผู้ส่งโดยผู้รับอาจแสดงอาการให้เห็น เช่น ง่วงนอน ปรบมือ ยิ้ม พยักหน้า การพูดโต้ตอบ หรือการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นข้อมูลที่ทำให้ผู้ส่งทราบว่า ผู้รับมีความพอใจหรือมีความเข้าใจในความหมายที่ส่งไปหรือไม่ปฏิกริยาสนองกลับนี้คือข้อมูลย้อนกลับอันเกิดจากการตอบสนองของผู้รับที่ส่งกลับไปยังผู้ส่งนั่นเอง

กระบวนการสื่อสาร
กระบวนการสื่อสาร (Communication Process) โดยทั่วไปเริ่มต้นจากผู้ส่งข่าวสาร (Sender) ทำหน้าที่เก็บรวบรวมแนวความคิดหรือข้อมูล จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เมื่อต้องการส่งข่าวไปยังผู้รับข่าวสาร ก็จะแปลงแนวความคิดหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาเป็น ตัวอักษร น้ำเสียง สี การเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าข่าวสาร (Massage) จะได้รับการใส่รหัส(Encoding) แล้วส่งไปยังผู้รับข่าวสาร (Receivers) ผ่านสื่อกลาง (Media) ในช่องทางการสื่อสาร (Communication Channels)ประเภทต่าง ๆ หรืออาจจะถูกส่งจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสารโดยตรงก็ได้ ผู้รับข่าวสาร เมื่อได้รับข่าวสารแล้วจะถอดรหัส (Decoding) ตามความเข้าใจและประสบการณ์ในอดีต หรือสภาพแวดล้อมในขณะนั้น และมีปฏิกริยาตอบสนองกลับไปยังผู้ส่งข่าวสารซึ่งอยู่ในรูปขอความรู้ ความเข้าใจ การตอบรับ การปฏิเสธหรือการนิ่งเงียบก็เป็นได้ ทั้งนี้ข่าวสารที่ถูกส่งจากผู้ส่งข่าวสารอาจจะไม่ถึงผู้รับข่าวสารทั้งหมดก็เป็นได้ หรือข่าวสารอาจถูกบิดเบือนไปเพราะในกระบวนการสื่อสาร ย่อมมีโอกาสเกิดสิ่งรบกวน หรือตัวแทรกแซง(Noise or Interferes) ได้ ทุกขั้นตอนของการสื่อสาร


คุณลักษณะของผู้ประสบความสำเร็จในการสื่อสาร 1. มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ 2. มีทักษะในการสื่อสาร 3. เป็นคนช่างสังเกต เรียนรู้ได้เร็ว และมีความจำดี 4. มีความซื่อตรง มีความกล้าที่จะกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง 5. มีความคิดสุขุม รอบคอบ 6. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 7. คิดและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี 8. มีความสามารถแยกแยะและจัดระเบียบข่าวสารต่าง ๆ 9. มีความสามารถในการเขียนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 10. มีศิลปะและเทคนิคการจูงใจคน 11. รู้ขั้นตอนการทำงาน 12. มีมนุษยสัมพันธ์ดี

ลักษณะของการสื่อสารที่ดี การส่งสารโดยการพูดหรือการเขียน ที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลต่อการดำเนินธุรกิจ ควรมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ 1. ความน่าเชื่อถือ (Credibility) หมายถึง สารที่สามารถทำให้ผู้รับสารเกิดความเชื่อถือในสารนั้น 2. มีสาระ (Content) หมายถึง สารนั้นมีสาระ ให้ความพึงพอใจ เร่งเร้า และชี้แนะให้เกิดการตัดสินใจ 3. ชัดเจน (Clearity) หมายถึง การเลือกใช้คำ หรือข้อความที่เข้าใจง่าย ข้อความไม่คลุมเครือ 4. เหมาะสมกับโอกาส (Context) หมายถึง การเลือกใช้ภาษาและวิธีส่งสาร ตลอดจนผู้รับได้เหมาะสมกับสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม 5. ช่องทางการส่งสาร (Channels) หมายถึง การเลือกวิธีการส่งข่าวสารได้เหมาะสมและรวดเร็วที่สุด 6. ความต่อเนื่องและแน่นอน (Continuity and Consistency) หมายถึง การสื่อสารที่กระทำอย่างต่อเนื่อง มีความแน่นอนถูกต้อง 7. ความสามารถของผู้รับสาร (Capability of Audience) หมายถึง การเลือกใช้วิธีการส่งสารซึ่งมั่นใจว่าผู้รับสารจะสามารถรับสารได้ง่ายและสะดวก โดยคำนึงถึงความรู้ เจตคติ อุปนิสัย ทักษะการใช้ภาษา สังคมและวัฒนธรรมของผู้รับสารเป็นสำคัญ
การใช้ภาษาสื่อสารธุรกิจ เช่น การประชาสัมพันธ์ การเขียนข้อความโฆษณา มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยหรือสภาพความเป็นจริงในสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลที่สามารถกำหนดพฤติกรรม ทัศนคติ และความเชื่อของประชาชน ซึ่งส่งผลให้ภาษาเปลี่ยนแปลงมาจากสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การใช้ภาษาจึงมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ภาษาสื่อสารทางธุรกิจ เช่นการโฆษณาผ่านสื่อมวลชนประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ได้รวดเร็ว มีผู้รับสารจำนวนมาก และถึงตัวผู้รับ ผู้ส่งสารควรคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ มิใช่มุ่งหวังผลกำไรจากการประกอบธุรกิจเพียงอย่างเดียว
ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร 1. ใช้คำที่กะทัดรัด เข้าใจง่าย สื่อความหมายได้ชัดเจน 2. ใช้คำสุภาพ เหมาะสมแก้โอกาส ไม่ใช้คำหรือข้อความที่ตีความหมายได้หลายทาง 3. ใข้ข้อความหรือประโยคที่ไพเราะ ไม่ใช้สำนวนหรือรูปประโยคของภาษาต่างประเทศ 4. ใช้ภาษาที่สร้างสรรค์สังคมและรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาติไทย
รูปแบบของสาร
1. การสื่อสารขององค์กรธุรกิจ กับ ผู้ผลิต ลูกค้า ประชาชน และส่วนราชการ มีลักษณะการสื่อสาร ดังนี้
ผู้รับสาร
จุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร
รูปแบบของสาร
ผู้ผลิต
1. ส่งข่าว
- จดหมาย โฆษณา ใบปลิว ิเอกสาร
ประชาชน
2. เผยแพร่กิจการให้ความรู้ ความเข้าใจ
สิ่งพิมพ์ เอกสาร การซื้อขาย
ลูกค้า
3. ชักจูงให้ซื้อสินค้า หรือใช้บริการ
แบบฟอร์มต่าง ๆ


- การบรรยาย อภิปราย การสนทนา


โทรศัพท์
ส่วนราชการ
1. การขออนุญาตโฆษณาจำหน่ายสินค้า
- จดหมาย ระเบียบ ประกาศแจ้งความ

2. การขอข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เช่น ความเคลื่อนไหว
คำสั่ง กฏหมาย โทรศัพท์ สนทนา

เกี่ยวกับราคา
สอบถาม

2. การสื่อสารในองค์กร หมายถึง การติดต่อสื่อสารกับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกจ้าง ตลอดจนการติดต่อระหว่างบุคลากรที่ดำเนินธุรกิจเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะการสื่อสาร ดังนี้
ผู้รับสาร
จุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร
รูปแบบของสาร
ผู้บริหาร
1. รายงานความก้าวหน้าและให้ข่าวสาร
- จดหมาย หนังสือเวียน รายงานการประชุม
ผู้ถือหุ้น
2. ส่งเสริมความเข้าใจ และประสานผลประโยชน์
- การอภิปราย
ลูกค้า
3. ขอความร่วมมือ
- การประชุม
พนักงาน
1. ส่งเสริมความเข้าใจ
- การอบรม การประชุม
ลูกจ้าง
2. ขอความร่วมมือ
- การอภิปราย

3. แนะนำการปฏิบัติ
- หนังสือเวียน ประกาศ คำสั่ง ระเบียบ

4. สร้างความสัมพันธ์


5. ให้ข่าวสาร

สมาชิก
1. ให้ข่าวสาร
- จดหมาย หนังสือเวียน วารสาร

2. ขอความร่วมมือ
- การประชุม อภิปราย

3. สร้างความสัมพันธ์


การพูดกับงานธุรกิจ
ในแต่ละวันเราใช้เวลาส่วนใหญ่พูดคุยกับผู้คนรอบข้างการพูดธรรมดาแตกต่างจากการพูดของนักธุรกิจซึ่งสื่อสารด้วยการพูดในโอกาสต่าง ๆ เช่น การติดต่อ การสั่งงาน การนำเสนอผลงาน การโฆษณา เสนอขายสินค้า และบริการ นอกจากนี้นักธุรกิจต้องพูดในสังคมธุรกิจ เช่น การสนทนา การสังสรรค์ การกล่าวปราศัย การพูดให้โอวาทการกล่าวรายงาน การพูดปาฐกถา การอภิปราย การสัมภาษณ์ และการพูดโทรศัพท์
จุดมุ่งหมายของการพูด 1. เพื่อให้ข่าวสาร ความรู้ และความเข้าใจ 2. สร้างความสนใจ ให้เกิดสัมพันธภาพ ความร่วมมือ หรือการสนับสนุน 3. สร้างความเชื่อถือ ศรัทธา ความนิยมให้เกิดขึ้นแก่ผู้ฟัง
ลักษณะการพูดที่ดี 1. เตรียมตัว ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง แต่งกายเหมาะสมกับงานอาชีพ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสตลอดจนศึกษาหัวข้อหรือข้อมูลข่าวสารที่จะพูด ด้วยการฝึกพูด เช่น การฝึกออกเสียงให้เป็นเสียงตามธรรมชาติ แจ่มใส
2. เตรียมสาร ได้แก่ การศึกษาข้อมูลข่าวสาร ด้วยการหาข้อมูล ลำดับขั้นตอน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย
3. พูดด้วยความมั่นใจ มีความชัดเจน เกี่ยวกับเนื้อหา คำพูดชัดถ้อยชัดคำ ความชัดเจนของคำพูดแต่ละคำจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจคำพูดของผู้พูดได้ทันที การพูดให้มีความชัดเจนต้องพัฒนาทักษะในการสื่อสาร จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนและสมาธิ นอกจากนี้น้ำเสียงจะสะท้อนอารมณ์ของผู้พูด 4. สำรวจการพูด และแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญและมีคุณค่าสำหรับการพูดคือการยิ้มให้บ่อยที่สุดในขณะที่พูด
ศิลปะการพูดของนักธุรกิจ ในชีวิตประจำวันของทุกคนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพูดคุยหรือสนทนากับผู้คน โดยเฉพาะนักธุรกิจ การพูดเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ฟังหรือลูกค้าเกิดความศรัทธา มีความคิดเห็นคล้อยตามเพื่อเกิดพฤติกรรมที่ต้องการ คือ ให้ซื้อสินค้าหรือบริการนั้น โดยผู้พูดจะต้องมีความจริงใจ ความปรารถนาดี มีคุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ
ขั้นตอนการพูด 1. สร้างความสนใจ โดยใช้วิธีการพูดที่เข้าใจง่าย สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง 2. สร้างความเข้าใจ ได้แก่ การพูดด้วยการยกตัวอย่าง และเปรียบเทียบให้เข้าใจอย่างชัดเจน 3. สร้างความเชื่อถือ ได้แก่ การพูดอย่างมีเหตุผล มีแหล่งข้อมูล หรือหลักฐานอ้างอิง ประกอบการพูด สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับผู้ฟังได้ผลดี
คุณสมบัติของผู้พูด 1. มีศิลปะในการพูด โดยการพูดเร้าใจผู้ฟัง และโน้มน้าวให้ผู้ฟังเกิดความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร 2. มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเรื่องราวที่พูด 3. มีความเป็นกันเอง คือมีความเป็นมิตรไมตรี ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส 4. มีความจริงใจกับผู้ฟัง 5. มีจรรยาบรรณต่องงานอาชีพ โดยการพูดกับผู้ฟังด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

การเขียนกับงานธุรกิจ
การปฏิบัติงานทางธุรกิจ การใช้ภาษาสื่อสารโดยเฉพาะงานเขียนอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องคำนึงถึงสำนวนภาษา การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสม การเรียบเรียงข้อความ การใช้ตัวสะกด การันต์ ให้ถูกต้อง เช่น การเขียนจดหมายธุรกิจที่ดี จะต้องไม่อ้อมค้อม มีความกระจ่างชัดเจนและนุ่มนวล มีวัตถุประสงค์เฃ่นเดียวกับการพูดเจรจา มีความสะอาด ไม่มีคำผิด ขูดลบแก้ไข และจดหมายจะต้องสะท้อนภาพพจน์ของกิจการ

การใช้บริการการสื่อสารแห่งประเทศไทย
ธุรกิจทุกประเภทย่อมต้องการการสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็ว องค์กรธุรกิจสามารถติดต่อใช้บริการของการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ดังนี้ 1. บริการไปรษณีย์ ได้แก่ การส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ พัสดุภัณฑ์ 2. บริการโทรคมนาคม ได้แก่การบริการสื่อโทรคมนาคมทั้งภายในและภายนอประเภท เช่น โทรเลข โทรศัพท์ 3. บริการการเงิน ได้แก่ การส่งเงินทางไปรษณีย์ธนาณัติ ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์ ฯลฯ

การอ่านกับงานธุรกิจ เป็นงานสำคัญ ต้องวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะตัดสินใจและสั่งงานให้ถูกต้อง การอ่านจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ก้าวทันโลก
หลักการอ่านสารทางธุรกิจ
1. เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำ เป็นการอ่านเพื่อสรุปความสำคัญของเนื้อหา สามารถติดต่อหรือโต้ตอบได้อย่างถูกต้อง
2. เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง เช่น การทำรายงานการประชุม คำสั่ง ประกาศของกิจการ เป็นต้น
3. เพื่อวิเคราะห์ ข้อมูลข่าวสาร เพื่อตัดสินสจ
4. เพื่อพัฒนาความรู้ เช่น การอ่านข่าวประจำวัน ข่าวสารทางธุรกิจ
ลักษณะการอ่านที่มีประสิทธิภาพ
1. เข้าใจเนื้อหาโดยสรุปได้ถูกต้อง
2. จับความสำคัญหรือความคิดหลักของผู้เขียนได้
3. แยกข้อความสำคัญหลัก ข้อความสำคัญรอง และรายละเอียดได้
4. สรุปเรื่องที่อ่านและจัดลำดับเรื่องราวได้ด้วยตนเอง
5. เข้าใจและนำความรู้ไปใช้ได้

บทบัญญัติ 10 ประการของการติดต่อสื่อสาร
การที่จะให้งานสำเร็จลุล่วงไปโดยอาศัยคน แต่ความคิดเห็นที่ดีและมีเหตุผล ตลอดจนการตัดสินใจของท่านจะมีประสิทธิภาพสูง ก็ต่อเมื่อได้ถ่ายทอดไปสู่คนอื่นและได้ผลเป็นการกระทำหรือความรู้สึกตามที่ปรารถนาจะติดต่อสื่อสาร การติดต่อสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งของการดำเนินงานและการทำงาน การติดต่อสื่อสารมิใช่เพียงคำพูดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ด้วยท่าทีที่เห็นได้เด่นชัดและการกระทำของตัวท่านเองด้วย เพราะการติดต่อสื่อสารตีวงล้อมเอาพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์เราทุกอย่างมารวมไว้ด้วยเพื่อมีผลลัพธ์ออกมา คือ การแลกเปลี่ยน ความหมายซึ่งกันและกัน การที่ท่านสามารถติดต่อสื่อสารได้ดีเพียงใด และกว้างขวางเพียงใด บทบัญญัติ 10 ประการได้บัญญัติขึ้นเพื่อช่วยให้ท่านสามารถปรับปรุงความชำนาญในการสื่อสารของท่านกับผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาและกับผู้ร่วมงาน
บทบัญญัติที่ 1 แสวงหาความกระจ่างในเรื่องที่จะถ่ายทอดก่อนที่จะทำการติดต่อสื่อสารออกไป
การวิเคราะห์ปัญหา หรือความคิดเห็นอย่างมีระบบจะทำให้เกิดความเข้าใจกระจ่างขึ้น นี่คือก้าวแรกของการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิผล การติดต่อสื่อสารหลายครั้งล้มเหลวลงเพราะไม่มีการวางแผนที่เพียงพอ การวางแผนที่ดีจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงเป้าหมายและทัศนคติของผู้อื่นที่รับการติดต่อสื่อสารและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
บทบัญญัติที่ 2 ตรวจสอบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการติดต่อสื่อสารแต่ละครั้ง
ก่อนที่ท่านจะทำการติดต่อสื่อสาร ถามตัวท่านเองก่อนว่าท่านประสงค์จะรับผลอะไรออกมาจากข่าวสารที่ท่านจะส่งออกไป รวบรวมข้อมูล ริเริ่มการกระทำ เปลี่ยนทัศนคติของคนอื่น วิเคราะห์เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของท่าน แล้วจึงเฟ้นหาคำพูดของท่าน น้ำเสียง ตลอดจนวิธีการที่ดีที่สุดที่จะสนองความมุ่งมาดปรารถนาที่ท่านตั้งไว้ อย่าพยายามตั้งเป้าหมายไว้กว้างนักสำหรับการติดต่อสื่อสารแต่ละครั้ง
บทบัญญัติที่ 3 พิจารณาเตรียมการเมื่อท่านจะติดต่อสื่อสาร
ความหมายและความจริงใจมีค่ามากกว่าคำพูดอย่างเดียว มีปัจจัยอื่นๆ อีก ที่มีอิทธิพลต่อการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น ผู้จัดการจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย อาทิเช่นการเข้าใจในจังหวะจะโคนที่จะส่งข่าว นั่นคือ ให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น บรรยากาศของที่ประชุม ความสัมพันธ์ในองค์การ ขนบประเพณีและแนวทางปฏิบัติที่เคยทำมาในครั้งก่อนๆ จะต้องคำนึงอยู่เสมอถึงปัจจัยทั้งหมดที่เกื้อกูลการติดต่อสื่อสารของท่าน การติดต่อสื่อสารเหมือนกับสิ่งที่มีชีวิตที่จะต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเสมอ
บทบัญญัติที่ 4 ปรึกษาหารือกับคนอื่นตามความเหมาะสมในการวางแผนการติดต่อสื่อสาร
บ่อยครั้งที่เป็นการเหมาะสม หรือจำเป็นที่จะต้องหาความร่วมมือจากผู้อื่นในการวางแผนการติดต่อสื่อสาร หรือเตรียมการเกี่ยวกับข้อเท็จจริง การปรึกษาหารือเช่นนั้นมักจะช่วยให้ท่านสามารถเกิดความเข้าใจอันดีลึกซึ้งถึงเป้าหมายของข่าวที่ท่านจะสื่อออกไปชัดจนขึ้น นอกเหนือไปจากผู้ที่ได้ให้ความช่วยเหลือวางแผน การติดต่อสื่อสารยังจะช่วยสนับสนุนแผนการนั้นๆ อีกด้วย
บทบัญญัติที่ 5 จงระมัดระวังในขณะที่ท่านทำการติดต่อสื่อสาร
น้ำเสียงของท่าน อากัปกิริยาของท่าน ลักษณะของท่านล้วนแต่มีผลสะท้อนต่อผู้ที่ท่านพยายามจะติดต่อด้วย มีบ่อยครั้งที่ท่านอาจมองข้ามสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกันกับการเลือกคำพูดที่ท่านจะใช้พูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านจะต้องระวังคำที่มีความหมายกำกวมและกระทบกระเทือนอารมณ์ผู้ฟัง
บทบัญญัติที่ 6 โอกาสแรกต้องแสดงถึงผลประโยชน์และการสร้างความสำคัญของผู้รับ
การที่จะตระหนักถึงผลประโยชน์ และความจำเป็นของผู้อื่น ลักษณะที่พยายามจะมองในสิ่งต่างๆ ในทรรศนะของคนอื่น มักจะช่วยเปิดโอกาสให้ท่านอำนวยบางสิ่งบางอย่างที่จะเป็นผลประโยชน์หรือค่าในระยะยาวต่อคนอื่น คนทำงานมักจะมีความรู้สึกที่ดีต่อผู้จัดการหน่วยงาน ถ้าหากว่าข่าวสารที่ออกมาจากเขาคิดถึงประโยชน์ของพวกเขาด้วย
บทบัญญัติที่ 7 ติดตามผลการติดต่อสื่อสารของท่าน
ความพยายามอย่างดียิ่งของเราในการติดต่อสื่อสารจะไร้ผล และเราอาจจะไม่มีโอกาสรู้ได้ว่าเรานั้นได้กระจายข่าวออกไปสำเร็จ ได้ความหมายถูกต้องทั้งเนื้อหาและสาระสำคัญ ถ้าเราไม่มีการติดตามผลว่าเรานั้นสามารถส่งความหมายไปได้ถึงไหน เรื่องนี้ท่านเองสามารถทำได้โดยการสอบถามคำถาม พยายามให้เขาแสดงความรู้สึกต่อข่าว โดยการติดตามการต่อเนื่อง โดยวิธีทดสอบการปฏิบัติงาน มั่นใจว่า การสื่อความหมายที่สำคัญจะรับผลสะท้อนกลับเพื่อความเข้าใจที่สมบูรณ์ และการกระทำที่ถูกต้องของผลลัพธ์
บทบัญญัติที่ 8 การติดต่อสื่อสารสำหรับพรุ่งนี้กับวันนี้
การติดต่อสื่อสารเพื่อจะให้เกิดผลตามที่สถานการณ์ต้องการ ต้องมีการวางแผนโดยคำนึงถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วในแง่ของความนึกคิดของผู้ฟัง ความนึกคิด เช่น ถ้าหากว่ามันเป็นเรื่องที่เคยได้รับการสนับสนุนจากผู้รับข่าวมาแล้ว ทุกคนก็พอจะมั่นใจได้ว่ามันจะได้รับการเห็นด้วย อีกประการหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องความไม่ดีของการปฏิบัติงาน หรือความซื่อสัตย์ของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่การเลื่อนการถ่ายทอดในสิ่งที่ไม่ดีนี้ออกไป จะทำให้เกิดความยุ่งยากในกาลข้างหน้าได้ และเป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและหน่วยงานของท่านเอง
บทบัญญัติที่ 9 มั่นใจว่าการกระทำของท่านสนับสนุนการติดต่อสื่อสาร
ในการวิเคราะห์การติดต่อสื่อสาร ที่จะก่อให้เกิดการยอมรับไม่ใช่อยู่ที่ท่านพูดอย่างเดียว แต่อยู่ที่การกระทำของท่านด้วย เมื่อการกระทำของบุคคลหรือกิริยาท่าทางตรงกันข้ามกับคำพูดของเขา เรามักจะไม่เชื่อในคำพูดนั้นๆ สำหรับผู้จัดการหน่วยงานกระทำเช่นนี้แสดงว่าเป็นการปฏิบัติที่ดี ได้แก่ การมอบหมายความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ การให้รางวัลที่เที่ยงธรรมและนโยบายที่ดีจะช่วยการสื่อความหมายได้มากกว่าคำพูดเสียอีก
บทบัญญัติที่ 10 สุดท้ายแต่มิได้หมายความว่าท้ายที่สุด ไม่เพียงแต่ให้คนอื่นเข้าใจเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจเองด้วย
เมื่อเราเริ่มต้นพูด เรามักจะหยุดฟัง โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังมิได้พูดแสดงปฏิกิริยาและท่าที ยิ่งไปกว่านั้น คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเราทุกคนในบางครั้งเราไม่ค่อยเอาใจใส่ เมื่อคนอื่นพยายามที่จะสื่อความหมายมาหาตัวเรา การฟังเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ยากที่สุดและถูกละเลยมากที่สุด เราสนใจไม่เพียงแต่การแปลความหมายของคนอื่นให้ออก เมื่อเขาระบายความรู้สึกทางภายนอกเท่านั้น จึงต้องแปลความหมายที่อยู่ใต้ความรู้สึกของเขาด้วยคำพูดที่ไม่ได้พูดออกมา สำเนียงของเสียงที่อยู่ข้างใต้เสียงอาจมีความสำคัญมากกว่า ฉะนั้น เราจำเป็นต้องเรียนที่จะฟังด้วยหูข้างใน ถ้าเราจะทำความรู้จักคนที่อยู่ในคนอีกทีหนึ่ง

การติดต่อสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยี
ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเกิดขึ้น สื่อที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปล้วนมีข้อจำกัด ไม่สามารถส่งผ่านสารสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการทำงานขององค์กรต่างๆ จะใช้โทรศัพท์และกระดาษเป็นสื่อในการติดต่อเป็นส่วนใหญ่โทรศัพท์จึงเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ผู้สื่อสารควรนัดหมายให้พร้อมเพื่อไม่ให้เสียโอกาส ผลของการติดต่อไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานส่วนการใช้กระดาษ เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือแบบฟอร์มการซื้อขายต่าง ๆ ล้วนต้องใช้เวลานานในการประมวลผล
ส่วนสื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ และวิทยุเป็นการสื่อสารทางเดียว ผู้ชมหรือผู้รับสารสนเทศไม่สามารถจะส่งสารสนเทศกลับไปยังผู้เผยแพร่สื่อได้ง่าย อินเทอร์เน็ตจึงเป็นสื่อชนิดใหม่ซึ่งเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ได้ ทำให้ผู้ส่งสารและผู้รับสาร สามารถสื่อสารกันได้แบบสองทาง บุคคลที่ต้องการติดต่อกันไม่จำเป็นต้องนัดหมายเพื่อพบปะ ในขณะเดียวกันข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งผ่านสามารถบันทึกและเก็บไว้เป็นหลักฐานได้ง่าย นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่รองรับได้ทั้งการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหนึ่งหรือต่อหลายๆราย ข้อมูลสารสนเทศที่อยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตมีอยู่มากมายมหาศาล ทำให้ผู้รับสารเลือกได้เท่าที่ต้องการ
ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่จะเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน จุดเด่นของอินเทอร์เน็ต คือ การใช้มาตรฐานที่ทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ หรือ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์สามารถติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงกันได้โดยไร้พรมแดน การสื่อสารนั้นทำได้ด้วยความเร็วแสงและเป็นการสื่อสารแบบสองทาง
ปัจจัยที่ทำให้อินเทอร์เน็ตประสบความสำเร็จ
1. เป็นมาตรฐาน มาตรฐานของระบบอินเทอร์เน็ตทำให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จำนวนมากทั่วโลกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และมีศักยภาพที่จะทำให้อุปกรณ์แทบทุกชนิดติดต่อกันได้ เช่นโทรศัพท์ มือถือ โทรทัศน์ เครื่องเล่นเกมส์ ฯลฯ
2. เป็นการเชื่อมโยง การเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะวงแคบ หากแต่มีการเชื่อมโยงติดต่อกับบุคคลทั่วไปที่มีความต้องการตรงกัน โดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนบุคคล ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้ติดต่อกันโดยตรง
3. โลกไร้พรมแดน โลกของอินเทอร์เน็ต เป็นยุคไร้พรมแดน ตำแหน่งที่อยู่ของประเทศต่างๆ ไม่มีความสำคัญ ถึงแม้จะอยู่ที่ใดก็ตามย่อมติดต่อสื่อสารถึงกันได้ โดยไม่มีความรู้สึกแตกต่างด้านสถานที่
4. ความเร็วแสง
5. การสื่อสารแบบสองทาง

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
การดำเนินธุรกิจยุคใหม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบอีคอมเมิร์ชหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านการขายการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การเจรจาสื่อสารทางการค้า ฯลฯ ผู้ประกอบการต้องปรับธุรกิจเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต และดำเนินธุรกิจการค้าระบบอีคอมเมิร์ซ ดังนั้นระบบอินเทอร์เน็ตและอีคอม-เมิร์ซ ทำให้โลกเข้าสู่การติดต่อสื่อสารและการค้าไร้พรมแดน (Globalization) อย่างแท้จริง ทำให้ผู้ประกอบการค้าขายกับผู้บริโภคทั่วโลกได้โดยตรง ไม่ต้องเดินทางไปพบปะซึ่งทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง
ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
การศึกษาในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ E-Learning เกี่ยวข้องกับครูผู้สอนและผู้เรียนโดยตรง ปัจจุบันองค์กรของภาครัฐและเอกชนตลอดจนสถาบันการศึกษา เริ่มโครงการสอนแบบ E-Learning
ความหมายของ E- Learning
E- Learning มาจากคำว่า Electronics Learning หมายถึง การเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการเรียนรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์ มาช่วยสอนแทนรูปแบบการสอนเดิม การใช้วีดีทัศน์ ซีดีรอม สัญญาณดาวเทียม แลน อินเทอร์เน็ต และอินทราเน็ต
E- Learning เป็นการศึกษาทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Internet Pomputer Bework) ทั้งหลาย และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่มาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเรียน การวัดผล และการจัดการศึกษา ทั้งหมดแทนการเรียนการสอนแบบเดิม
ลักษณะของ E- Learning
E- Learning เป็นลักษณะการเรียนแบบออนไลน์ หมายถึง ลักษณะของข้อมูลที่เป็นข้อมูล ทางคอมพิวเตอร์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตลอดเวลา ทำให้การเรียนการสอน แบบ E- Learning เป็นการเรียนที่สามารถ โต้ตอบกันได้เหมือนการเรียนในห้องเรียนปกติ เพราะเป็น ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำเสนอ โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นลักษณะของมัลติมิเดีย หรือ ลักษณะการแสดงข้อมูลเป็นรูปภาพ กราฟ เสียงและภาพเคลื่อนไหวได้ ทำให้การเรียนการสอน แบบ E- Learning เป็นที่สนใจมากขึ้น นอกจากนี้ E- Learning มีคุณสมบัติสำคัญคือ เป็นการเรียนระยะไกล (Distance Learning) ซึ่งผู้เรียนและผู้สอนไม่ต้องพบกันแต่สามารถ เรียนหนังสือได้ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา ผู้เรียนและผู้สอนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถเชื่อมเช้าไปในอินเทอร์เน็ต ก็เรียนสอนกันได้ จึงเป็นผลให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self -Learning) มีประโยชน์คือ ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น มีอิสระในการเรียน และมีความคล่องตัวในการเรียนมากขึ้น
Distance Learning คือการเรียนทางไกลโดยผู้เรียนและผู้สอน ไม่ได้อยู่ด้วยกันจะเป็นวิธีการเรียน การสอนใดก็ตาม
E-Learning คือการเรียนที่มีลักษณะเป็นการเรียนทาง ไกลด้วยระบบออนไลน์สามารถใช้สื่อการสอน ในรูปของคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต โทรทัศน์ ดาวเทียม ซีดีรอม หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
Online Learning หรือ Web-based Learning หรือ Web-based Instruction มีความหมาย เหมือนการเรียน ทางไกล ผ่านทางเว็บจะเป็นรูปแบบ าของอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต และเอ็กซ์ทราเน็ต
Computer based Learning หรือ Computer-assisted Instruction (CAI) หมายถึง การเรียนโดย ใช้คอมพิวเตอร์ เป็นสื่อในการสอน
ตำราอิเล็กทรอนิกส์ (E-Books) หรือ Electronic Books การศึกษาเรียนรู้สามารถทำได้หลายวิธี คือ ผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ปัจจุบันมีการเผยแพร่ความรู้ด้วยตำราอิเล็กทรอนิกส์ โดยการนำเอกสารวิชาการ และตำราที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก มาจัดทำให้รูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นศูนย์รวมตำราเรียนบนโลกอินเทอร์เน็ต E-Books จะช่วยให้ผู้ศึกษา และผู้สนใจ ทั่วไป ศึกษาค้นคว้า และทดลองอ่านก่อนตัดสินใจซื้อตำราเหล่านั้น สิ่งสำคัญคือสามารถค้นคว้าหาความรู้และเลือกอ่านตำรา เรียนของสถานศึกษา ได้ทุกเล่ม ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

ปัญหาของการสื่อสาร
การสื่อสารจะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อผู้รับสามารถเข้าใจตรงกับที่ผู้ส่งต้องการ (ผลที่ได้ตรงกับจุดมุ่งหมาย) แต่ในกระบวนการสื่อสารนั้นจะต้องมีอุปสรรคเกิดขึ้นเสมอ และอุปสรรคเหล่านี้เองที่ทำให้ผลของการสื่อสารผิดพลาดไปจากเป้าหมายที่ผู้ส่งต้องการ ดังนั้นปัญหาของการสื่อสารก็เกิดขึ้นเนื่องจากอุปสรรคต่างๆ นั่นเอง ในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นเฉพาะในด้านผู้ส่งสาร ผู้รับสารและทางด้านเนื้อหาเท่านั้นคือ
1. ปัญหาทางด้านผู้ส่งสาร เช่น
1.1 พูดไม่ชัดเจน ข้อความและคำพูดไม่ได้ใจความ
1.2 พูดเร็ว เบา เกินไป
1.3 อารมณ์ และคำพูดไม่เหมาะสม
1.4 เสียงอื่น ๆ รบกวน
1.5 ภาษาที่ใช้ต่างกัน ฯลฯ
2. ปัญหาทางด้านผู้รับสาร เช่น
2.1 ไม่ตั้งใจฟัง
2.2 มีเสียงรบกวน
2.3 มีการขัดจังหวะเวลาพูดหรือส่งข้อความ
2.4 ความพิการทางประสาทรับความรู้สึกต่างๆ
2.5 ปัญหาทางด้านอารมณ์และมีเจตคติไม่ดีต่อผู้ส่ง ฯลฯ
3. ปัญหาทางด้านเนื้อหา เช่น
3.1 ยาวเกินไป
3.2 สั้นเกินไปไม่ได้ความ ตัวหนังสืออ่านไม่ออก
3.3 ภาษาต่างกัน
3.4 เนื้อหาถูกถ่ายทอดหลายขั้น
3.5 ช่องทางการส่งเนื้อหาถูกตัด ฯลฯ

สรุป
จะเห็นว่า การติดต่อสื่อสาร คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่าย คือผู้รับและผู้ให้ข้อมูล กระบวนการติดต่อสื่อสารเป็นเครื่องชี้ความสำเร็จของงานในองค์การอย่างหนึ่งและนับเป็นสัญลักษณ์ของพฤติกรรมความสัมพันธ์ในด้านการบริหารงาน ทางเดินทางการติดต่อสื่อสารอาจจะเป็นอย่างทางการหรืออย่างไม่เป็นทางการ คือ เป็นการติดต่อระหว่างคนรู้จักสนิทสนมกัน สายงานที่ปฏิบัติงานด้วยกันเอง
องค์ประกอบสำคัญของการสื่อสาร คือ ผู้ส่งสาร ผู้รับสาร สื่อหรือทางติดต่อ รวมทั้งผลที่เกิดขึ้น ในการสื่อสารมนุษย์มักใช้วัจนภาษาควบคู่ไปกับอวัจนภาษาเสมอ ในลักษณะที่เสริมกันแทนกัน ซ้ำกัน หรือแย้งกันได้ ผู้รับสารจึงต้องพิจารณาทั้งวัจนภาษาและอวัจภาษาของผู้ส่งสาร จึงจะทำให้การรับสารครั้งนั้นๆ ถูกต้อง ชัดเจนยิ่งขึ้น และการสื่อสารจะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้นั้น จะต้องขจัดปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดจากผู้ส่งสาร ผู้รับสาร เนื้อหาของสารและสื่อที่ใช้










บรรณานุกรม

สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย. ชุดวิชาการใช้ภาษาไทย เล่ม 1-2 . นนทบุรี : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2529.
. ชุดวิชาภาษาเพื่อการสื่อสาร. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัย
ธรรมาธิราช. 2529.
. ชุดวิชาไทยศึกษา. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2542.
อรุณ รักธรรม. ทฤษฎีองค์การ ศึกษาเชิงมนุษยสัมพันธ์. กรุงเทพฯ : หจก.สหายบล็อกและการ
พิมพ์. 2540.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โครงงาน

การประเมินโครงการ