การพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีหม้ายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้วิจัย             สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคใต้
ปีที่วิจัย           2559

การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีหม้ายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของสตรีหม้ายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้  2) เพื่อศึกษาความต้องการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีหม้ายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเลือกศึกษาเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลาและจังหวัดสตูล จำนวน 10 ตำบล ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส  4 ตำบล คือ 1) ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส 2) ตำบลกะลุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส  3) ตำบลบาโงสะโต  อำเภอระแงะ 4) ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ 5) จังหวัดยะลา  4 ตำบล คือ 1) ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมืองยะลา  2) ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา  3) ตำบลบาละ อำเภอกาบัง  4) ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง และจังหวัดสตูล 2 ตำบล คือ 1) ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล และ 2) ตำบลเกตรี  อำเภอเมืองสตูล กลุ่มตัวอย่างสตรีหม้ายในตำบลดังกล่าว ตำบลละ 30 คน รวมจำนวน 300 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบเจาะจงหลายขั้นตอน (Multi-Stage Purposive Sampling) ดำเนินการวิจัยในลักษณะของการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed-Methods Research) ซึ่งศึกษาทั้งวิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative Method) และวิธีการเชิงคุณภาพ (Qualitative Method) โดยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสำรวจข้อมูลชุมชน แบบสัมภาษณ์ข้อมูลสตรีหม้ายรายบุคคล แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม และแบบประเมินระดับความต้องการ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation: S.D.) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการศึกษาพบว่า

          1. สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีหม้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้
1.1 สภาวการณ์ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง  พบว่า สตรีหม้ายส่วนใหญ่มีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในสังคม มีความทุกข์ มีความเครียด ต้องรับภาระทุกอย่าง ทั้งนี้เนื่องจากการมีเรื่องของเพศภาวะ (Gender) ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ชายเป็นผู้นำ ผู้หญิงเป็นผู้ตาม เป็นสมบัติของสามี โดยเฉพาะสังคมมุสลิมต้องอยู่ในบ้านห้ามออกนอกบ้าน มีหน้าที่ทำงานบ้าน ดูแลสามีและลูกให้มีความสุข ความสบายจนในบางครั้งไม่ได้นึกถึงตัวเอง ไม่มีอำนาจในการใช้เงิน ต้องคอยรองรับอารมณ์ ความรุนแรง จนเกิดความเครียดและกดดันซึ่งเมื่อหมดไปก็ย่อมเกิดการหย่าร้างตามมา
1.2 สภาวการณ์ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว พบว่า การเป็นหม้ายมีผลกระทบต่อครอบครัวของสตรีหม้ายส่วนใหญ่ การเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากแม่บ้านมาทำหน้าที่เสาหลักของครอบครัว มาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ต้องทำงานหาเงินเพียงคนเดียวเพื่อเลี้ยงดูลูก น้องให้ได้เรียนหนังสือ ลูกพิการสติปัญญา ตาบอด ลูกหยุดเรียนเพราะติดยาเสพติด  พ่อแม่ พี่ชายเป็นอัมพฤกษ์ ต้องไปทำงานเป็นลูกจ้างที่ประเทศมาเลเซียเพื่อหาเงินมาใช้ในครอบครัวโดยฝากลูกไว้กับญาติพี่น้อง ที่สะท้อนใจคือลูกต้องการความรักจากพ่อ พยายามเป็นทั้งพ่อ แม่ให้ลูก ลูกตัดขาดพ่อทั้งนี้เนื่องจากเมื่อสตรีหม้ายแยกตัวออกมาแล้วมาอาศัยกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง จะต้องดิ้นรนเพื่อให้ครอบครัวที่เหลืออยู่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ให้ได้ เพื่อลูกที่กำลังโต ทำอย่างไรให้ลูกได้กินอิ่ม เรียนสูง ๆ ไม่ลำบาก ให้ลูกเป็นคนดีของสังคม เรียนจบมีงานทำที่มั่นคงนั่นคือความฝันของแม่ เป็นเป้าหมาย แรงขับเคลื่อนที่ทำให้ดำเนินชีวิตอยู่ได้
1.3 สภาพรายได้และคุณภาพชีวิต พบว่า สตรีหม้ายส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในครอบครัว รายได้มาจากการกรีดยาง การเลี้ยงสัตว์ (แพะ วัว) การปลูกผักพื้นบ้าน การรับจ้าง ทำงานมาเลย์ เป็นลูกจ้างอาหารตามสั่ง รับนวดแผนไทย รายได้วันละประมาณ 50 100  บาท มีเพียงส่วนน้อยที่มีธุรกิจของตัวเอง เช่น โอทอป (ขนมบุหงาบุดะ)  วิทยากรตัดเย็บเสื้อผ้า ครู กศน. สอนพิเศษ แต่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่ต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน อาหารการกิน การศึกษาลูก ค่ารักษาพยาบาล หนี้สิน ทั้งนี้เนื่องจาก สภาพสังคมไทย การจ้างแรงงานผู้หญิงยังต่ำกว่าผู้ชาย เมื่อหย่าร้างกับสามีมักได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งเวลาในการทำงาน รายได้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคนในครอบครัว

2. ความต้องการการเรียนรู้เพื่อการปรับปรุงและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีหม้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า สตรีหม้ายมีความต้องการการเรียนรู้เพื่อการปรับปรุงและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับมาก โดยสตรีหม้ายมีความต้องการความต้องการการเรียนรู้ด้านการส่งเสริมสนับสนุนตนเองมากที่สุด รองลงมาคือ ความต้องการการเรียนรู้ด้านการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิต และด้านการส่งเสริมสนับสนุนครอบครัว ตามลำดับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การสื่อสารและการพัฒนา

โครงงาน

การประเมินโครงการ