การประเมินโครงการ

                                                                                                                                            ณัฐภัสสร แดงมณี
                                                                                                                                             ครู สถาบัน กศน.ภาคใต้
                ผู้เขียนรับผิดชอบงานประเมินผล ซึ่งผลงานส่วนใหญ่จะเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลโครงการ เช่น การเป็นคณะกรรมการประเมินโครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 10 โครงการ การวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษาของสถาบัน กศน.ภาคใต้ รวมถึงการเป็นวิทยากรในหลักสูตร “วิจัยในชั้นเรียน” โดยได้รับหนังสือเชิญจาก ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการอบรมบุคลากรของสถานศึกษาดังกล่าว ผลงานที่เกิดจึงเป็นลักษณะผลงานทางวิชาการ ในที่นี้จะกล่าวถึง “การประเมินโครงการ” ซึ่งเป็นงานหลัก

ความสำคัญและประโยชน์ของการประเมินโครงการ
การประเมินโครงการเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผู้บริหารสถานศึกษาในยุคปฏิรูปการเรียนรู้ต้องให้ความสำคัญ  เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญในการตรวจสอบองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินงานพัฒนาโครงการต่างๆ  ภายในสถานศึกษา  ข้อมูลจากการประเมินจะช่วยให้ผู้บริหารและคนในองค์กรนำมาใช้ปรับปรุงหรือทบทวนการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา  เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการปรับปรุงแก้ไขต่อไป กล่าวคือ
1. นำมาใช้ในการวางแผนโครงการ
2. นำมาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการ
3. แสดงถึงผลสำเร็จและความล้มเหลวของโครงการ
4. แสดงถึงประสิทธิภาพของโครงการ
5. ช่วยในการควบคุมการดำเนินงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
6. ช่วยให้ข้อสนเทศแก่ผู้บริหารในการตัดสินใจดำเนินการ
7. ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดวิธีการดำเนินการครั้งต่อไป
สรุปได้ว่า การประเมินโครงการเป็นเครื่องมือสำคัญในตรวจสอบจุดเด่น จุดด้อย  ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขแผนการดำเนินงานต่างๆ ได้ทันเวลา  และยังสามารถสร้างความเข้าใจการดำเนินงานต่างๆ ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้ผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นด้วย

กระบวนการที่ปฏิบัติงาน
ผู้เขียนได้มีกระบวนการในการประเมินโครงการในลักษณะเดียวกับการทำวิจัยทางการศึกษาที่สามารถเป็นองค์ความรู้ได้ ดังนี้
                ขั้นตอนที่ 1  ศึกษาโครงการและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  ก่อนทำการประเมินโครงการผู้ประเมินจะต้องศึกษาให้ละเอียด ทั้งในเรื่องของรูปแบบการประเมินโครงการและตัวโครงการเอง การศึกษาในเรื่องของรูปแบบการประเมินโครงการจะทำให้ทราบว่าจะใช้รูปแบบใดในการประเมินโครงการนั้นๆ ส่วนการศึกษาตัวโครงการจะทำให้เข้าใจความเป็นมาของโครงการ สภาพแวดล้อม วัตถุประสงค์ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ  ซึ่งจะทำให้ผู้ประเมินสามารถกำหนดประเด็นการประเมินและตัวชี้วัดต่อไปได้ โดยการศึกษาค้นคว้านั้นอาจทำได้จากแหล่งเรียนรู้ ได้แก่ ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต  ตัวอย่างการประเมินโครงการ รายงานการวิจัยการประเมินโครงการ เป็นต้นนอกจากนี้อาจศึกษาจากขุมความรู้ เช่น ดร.ปรีชา จันทรมณี อดีตผู้อำนวยการเชี่ยวชาญสถาบัน กศน.ภาคตะวันออก  ดร.รุจิราพรรณ คงช่วย,  ดร.นงนภัส มากชูชิต อาจารย์คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา และนางสมจิตร คาระวี ศึกษานิเทศก์สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา เป็นต้น
                ขั้นตอนที่ 2  กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน  ในขั้นตอนนี้ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเราจะประเมินทำไม เพื่อใคร หรือใครเป็นผู้ใช้ผลการประเมิน
  ขั้นตอนที่ 3  กำหนดขอบเขตของการประเมิน  เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้การประเมินโครงการสามารถดำเนินการได้ และบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่จะทำการประเมิน บุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการประเมิน
          ขั้นตอนที่ 4  กำหนดตัวบ่งชี้ การกำหนดตัวบ่งชี้ในการประเมินสามารถกำหนดได้จากวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือ การกำหนดตัวบ่งชี้จากรูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ตัวบ่งชี้มีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  ในเชิงปริมาณนั้น เช่น จำนวนผู้เรียนที่ผ่านเกณฑ์ ส่วนในเชิงคุณภาพนั้นเช่น ความเหมาะสม ความสอดคล้อง ความพึงพอใจ เป็นต้น
                ขั้นตอนที่ 5 ออกแบบประเมินโครงการ บางแห่งเรียกว่าเป็นพิมพ์เขียว (Blue Print) ที่จะทำให้รู้ว่าจะต้องเก็บข้อมูลอะไร  กับใคร ใช้เครื่องมืออะไร  วิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร และอาจนำไปสู่การแปลผลอย่างไรด้วย โดยเครื่องมือที่ใช้อาจเป็นแบบทดสอบ แบบสอบถาม หรือแบบสัมภาษณ์ก็ได้
                ขั้นตอนที่ 6 รวบรวมข้อมูล เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ การเก็บรวบรวมข้อมูลอาจทำได้โดยผู้ประเมินเป็นผู้เก็บรวบรวมด้วยตนเอง หรือขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงาน บุคลากรในสถานที่ที่ประเมินโครงการนั้นๆ
                ขั้นตอนที่ 7  วิเคราะห์ข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา  ตัวอย่างเช่น ข้อจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม ใช้ค่าร้อยละ ความคิดเห็นต่อโครงการที่อยู่ในรูปมาตราส่วนประมาณค่า ใช้ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากเอกสาร การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม ฯลฯ  ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา 
             ขั้นตอนที่ 8  สรุปผลการประเมิน  การสรุปผลการประเมินโครงการ ผู้ประเมินควรเน้นประเด็นที่สำคัญดังนี้คือ ผลผลิตจากโครงการ ปัญหา และข้อจำกัดของการดำเนินโครงการ ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงโครงการ  นอกจากนั้นเน้นไปที่การเกิด นวัตกรรมใหม่เช่น เทคโนโลยีหรือเอกสารทางวิชาการ ข้อมูลสารสนเทศ เป็นต้น
            สรุปได้ว่า กระบวนการปฏิบัติงานในการประเมินโครงการจะมี 8 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การศึกษาโครงการและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน  กำหนดขอบเขตของการประเมิน  กำหนดตัวบ่งชี้ ออกแบบประเมินโครงการ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผลการประเมิน ซึ่งการที่จะสามารถประเมินโครงการได้เป็นขั้นตอนที่สมบูรณ์นั้น การ “พาทำ” เป็นแนวทางที่จะทำให้บุคลากรมีทักษะในการประเมินโครงการและสามารถประเมินโครงการของตนเองได้

แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการประเมินโครงการ
1. ความหมายของการประเมินโครงการ 
         ผู้เขียนได้ศึกษาความหมายของการประเมินโครงการจากนักวิชาการหลายท่าน ได้แก่ ประชุม  รอดประเสริฐ  (2535)  ปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์ (2539)  สำราญ  มีแจ้ง  (2544)  สรุปได้ว่า การประเมินโครงการเป็นเครื่องมือสำคัญในเชิงกลยุทธ์ที่จะสามารถใช้ตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ ตามแผนที่กำหนดไว้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่  มีจุดเด่นจุดด้อยประการใด  เพื่อประโยชน์ในการทบทวนปรับปรุงแผนการทำงานในทุกขั้นตอน
2. รูปแบบการประเมินโครงการ
รูปแบบประเมินโครงการที่นิยมใช้กัน มีดังนี้
2.1 รูปแบบการประเมินของไทเลอร์ (Tyler)  เป็นการประเมินตามวัตถุประสงค์ของโครงการ การประเมินเป็นกระบวนการตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นเทียบกับวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยเลือกและสร้างเครื่องมือที่จะใช้ในการวัดพฤติกรรมตามที่ได้ระบุไว้ในจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ระบุว่า ได้มีการบรรลุจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมเพียงใด
2.2 รูปแบบการประเมินของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) / CIPP Model แบ่งการประเมินออกเป็น 4 ประเด็นตามประเภทของการตัดสินใจและการนำไปใช้ประโยชน์ ดังนี้      
2.2.1 การประเมินบริบทหรือสภาวะแวดล้อม(Context Evaluation) เป็นการประเมินก่อนที่จะลงมือดำเนินการในโครงการใด ๆ เพื่อนำข้อมูลไปกำหนดหลักการและเหตุผล        รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นที่จะต้องจัดทำโครงการดังกล่าว  การชี้ประเด็นปัญหา  ตลอดจนพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ (เพื่อวางแผน)
2.2.2 การประเมินปัจจัยเบื้องต้น(Input Evaluation)  เป็นการพิจารณาความเหมาะสม     ความพอเพียงของทรัพยากรในการดำเนินโครงการ ตลอดจนเทคโนโลยีและแผนของการดำเนินงาน (เพื่อกำหนดโครงสร้าง)
2.2.3 การประเมินกระบวนการ(Process Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อหาข้อบกพร่องของการดำเนินโครงการ (เพื่อนำโครงการไปปฏิบัติ)     
2.2.4 การประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้ (เพื่อทบทวนโครงการ)
2.3 การประเมินเชิงระบบ รูปแบบของ System Approach เป็นการประเมินโครงการในลักษณะที่คล้ายคลึงกับรูปแบบการประเมินของซิป (CIPP Model) เพียงแต่ไม่เน้นด้านบริบท สิ่งแวดล้อม หรือผู้ประเมินอาจจะนำด้านบริบท สิ่งแวดล้อมไปรวมอยู่ในด้านปัจจัยนำเข้า จึงทำให้การประเมินนี้มีองค์ประกอบเพียง 3 ส่วน คือ
2.3.1 สิ่งที่ป้อนเข้าไป (Input) หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในโครงการ
2.3.2 กระบวนการ (Process) หมายถึง การนำเอาสิ่งที่ป้อนเข้าไปมาจัดกระทำให้เกิดผลบรรลุ
2.3.3 ผลผลิต (Output) หมายถึง ผลที่ได้จากการกระทำในขั้นที่สอง
2.3 รูปแบบการประเมินของเคิร์กแพททริก (Kirkpatrick) เน้นการประเมินผลการจัดฝึกอบรม โดยแบ่งการประเมินออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
2.3.1 การประเมินปฏิกิริยา (Reaction Evaluation) เพื่อต้องการทราบว่าผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมมีความรู้สึกอย่างไรต่อการฝึกอบรม มีความพึงพอใจต่อการฝึกอบรมเพียงใด เช่น ความพึงพอใจต่อหลักสูตร เนื้อหา กิจกรรม และวิธีการฝึกอบรม รวมทั้งความรู้ ความสามารถ และเทคนิคการถ่ายทอดของวิทยากรตรงตามความต้องการหรือทำให้ผู้เข้าอบรมมีความพึงพอใจ หรือไม่เพียงใด
2.3.2 การประเมินผลการเรียนรู้(Learning Evaluation) โดยควรตรวจสอบให้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้(Knowledge) ทักษะ(Skills) และเจตคติ (Attitude) เพื่อต้องการทราบว่า ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ได้ปรับปรุงและพัฒนาทักษะอะไรบ้าง และมีเจตคติต่อการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เพียงใด ทั้งนี้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของผู้เข้าอบรมในโอกาสต่อไป
2.3.3 การประเมินพฤติกรรม (Behavior Evaluation) เป็นการตรวจสอบว่าผู้เรียนหรือผู้ผ่านการอบรมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไปตามความคาดหวังของหลักสูตรหรือโครงการหรือไม่ วิธีการประเมินอาจติดตามประเมินโดยใช้แบบสอบถาม โดยสอบถามจากผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน และ การออกไปติดตามจริง
2.3.4 การประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์กร (Results Evaluation) เป็นการตรวจสอบว่า ผลจากการอบรมได้เกิดผลดีหรือผลกระทบต่อองค์กรในลักษณะใดบ้าง พฤติกรรมของบุคลากรที่เปลี่ยนแปลงไปหรือผลที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการจัดหลักสูตรหรือโครงการฝึกอบรมโดยตรง ก็แสดงว่าหลักสูตรหรือโครงการฝึกอบรมนั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์กร
ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดว่า หลักในการเลือกรูปแบบการประเมินให้เหมาะสมกับโครงการ คือ
1. พิจารณาวัตถุประสงค์ของโครงการว่า ขอบข่ายการประเมินแค่ไหน ต้องการเน้นประเมินอุไร ซึ่งหากตรงกับรูปแบบการประเมินที่มีอยู่แล้ว อาจเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เช่น
1.1 ประเมินทั้ง 4 ด้าน คือ ประเมินบริบท สภาพแวดล้อม (Context) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) ประเมินกระบวนการ (Process) และประเมินผลผลิต (Product) ก็ใช้รูปแบบการประเมินของซิป (CIPP Model) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเหมาะสมกับโครงการทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ใช่โครงการฝึกอบรม เพราะมีความครอบคลุมและชัดเจน ประโยชน์ที่ได้จะทำให้สามารถเลือกโครงการให้เหมาสม กำหนดวิธีการดำเนินงาน กำกับให้เป็นไปตามแผนงาน สุดท้ายคือยุติ ชะลอ หรือขยายโครงการต่อไป
1.2 ประเมิน 3 ด้าน คือ ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) ประเมินกระบวนการ (Process) และประเมินผลผลิต (Output)/ผลลัพธ์ (Outcome) ก็ใช้การประเมินเชิงระบบ รูปแบบของ System Approach  รูปแบบนี้ผู้เขียนเห็นว่ามีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เหมาะสมกับโครงการทั่ว ๆ ไปเช่นกัน และหากต้องการทราบผลลัพธ์ของโครงการ อาจประเมินไปถึง ผลลัพธ์ (Outcome)  ได้
1.3 ประเมินที่ต้องการทราบปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction) การเรียนรู้(Learning) พฤติกรรม (Behavior) และผลที่เกิดขึ้นต่อองค์กร (Result) ควรใช้รูปแบบการประเมินของเคิร์ก   แพททริก (Kirkpatrick) ผู้เขียนเห็นว่าเหมาะกับการประเมินโครงการฝึกอบรมเพราะเป็นการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าอบรมในการดำเนินโครงการและประเมินผู้อบรมว่ามีความรู้ ความเข้าใจและเกิดทักษะเพิ่มขึ้นเพียงใด ส่วนการประเมินพฤติกรรมและผลที่เกิดขึ้นต่อองค์กรอาจประเมินไปหลังจากอบรม 3-6 เดือน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ก่อน
1.4 ประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน กำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน เขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ทดสอบก่อนเรียน สอนด้วยวิธีการที่เหมาะสม ทดสอบหลังเรียน เปรียบเทียบผลก่อนเรียนและหลังเรียน สุดท้ายนำผลมาพัฒนาการเรียนการสอน วิธีการนี้เหมาะสมที่จะใช้รูปแบบการประเมินของไทเลอร์ (Tyler)  และผู้เขียนเห็นว่าเหมาะสมกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพราะสามารถวัดและประเมินได้ชัดเจน มีระยะเวลาและกลุ่มเป้าหมายที่แน่นอน
2. ประเมินตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้ บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้ตามรูปแบบต่าง ๆ เพราะไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ ผู้ประเมินอาจใช้ดุลยพินิจพิจารณากำหนดกรอบประเมินตามความเหมาะสมได้
3. การสร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผล
เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลที่นิยมใช้กันทั่วไป มี 4 อย่าง คือการใช้แบบสอบถาม (Questionaire) การสัมภาษณ์(Interview) การสังเกต (Observation)  การใช้แบบทดสอบ (Testing)
3.1 การใช้แบบสอบถาม
แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล   เพราะประหยัดงบประมาณ เวลา และเหมาะสมกับการเก็บข้อมูลที่อยู่ในลักษณะกระจาย และเป็นจำนวนมาก ๆ 
3.1.1 ชนิดของแบบสอบถาม จำแนกได้ 2 ชนิด คือ
1) แบบสอบถามปลายเปิด (Open ended Questionnaire)  เป็นแบบสอบถามที่กำหนดคำถามแล้วไม่มีคำตอบให้เลือก ผู้ตอบสามารถเขียนตอบตามความต้องการ เช่น ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่มีต่อการเข้ารับการฝึกอบรม หัวข้อวิชาที่ต้องการให้เพิ่มลงไปในหลักสูตร   เป็นต้น
2) แบบสอบถามปลายปิด (Close  Ended Questionnaire)  เป็นแบบสอบถามที่กำหนดคำถาม และมีคำตอบให้เลือก เช่น
เพศ   (  ) ชาย     (  ) หญิง
อายุ    (  ) 20 - 30 ปี    (  ) 30 - 40 ปี     (  )   41 ปีขึ้นไป
3.1.2 ลักษณะของแบบสอบถามที่ดี
1) มีรูปร่างและขนาดของแบบฟอร์ม และตัวอักษรเหมาะสมได้ขนาด อ่านง่าย
2) เรียงเลขข้อ และหน้าอย่างมีระเบียบ เว้นระยะให้สะดวกแก่การอ่าน
3) มีคำแนะนำในการตอบอย่างชัดเจน พร้อมตัวอย่าง (ถ้ามี)
4) ใช้กระดาษที่มองดูน่าสนใจ และอาจมีสัญลักษณ์อื่น ๆ เช่นรูปภาพ
5) ข้อคำถาม ไม่ควรมีคำถามมากนัก เพราะจะใช้เวลามากเกินไป
6) ควรมีจดหมายนำแบบสอบถาม (หรือข้อความนำ) อธิบายจุดมุ่งหมาย และความสำคัญของการตอบด้วย
การสร้างแบบสอบถามที่ดีและใช้ได้อย่างเหมาะสมนั้นต้องอาศัยการกำหนดจุดมุ่งหมายที่จำเพาะและชัดเจน   ข้อความที่ใช้ต้องเป็นภาษาที่ดีเข้าใจง่าย และรูปแบบของแบบสอบถามต้องน่าสนใจด้วย
3.1.3 ขั้นตอนในการสร้างแบบสอบถาม
1) กำหนดวัตถุประสงค์ของแบบสอบถาม
2) กำหนดประเด็นหลักของเนื้อหา
3) แจกแจงประเด็นหลัก   ประเด็นย่อย
4) กำหนดจำนวน และประเภทของข้อคำถาม
5) ตรวจสอบความสอดคล้องของข้อคำถามกับประเด็นย่อย ประเด็นหลัก
6) ทดลองใช้  แก้ไข   จัดพิมพ์
3.2 การสัมภาษณ์ (Interview)
เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลในลักษณะที่ผู้รวบรวมข้อมูลมีโอกาสพบปะสนทนากับผู้ให้ข้อมูล แต่เป็นการสนทนาแบบมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน   อาจทำแบบเป็นทางการ หรือแบบไม่เป็นทางการก็ได้
3.2.1 ประเภทของการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์ แบ่งออกเป็น  2 ประเภท คือ
1) การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างแน่นอน (Unstructure Interview) ใช้ในกรณีที่ต้องการข้อมูลแนวลึก   รายละเอียดมาก ๆ ในแบบสัมภาษณ์จะมีแต่หัวข้อใหญ่ ๆ การตั้งคำถามอยู่ที่ผู้สัมภาษณ์เอง   ดังนั้นการตั้งคำถามในรายละเอียดของผู้สัมภาษณ์ แต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ หรือข้อมูลที่ได้ในขณะสัมภาษณ์
2) การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structure Interview) แบบสัมภาษณ์แบบนี้มีลักษณะเป็นแบบสอบถาม มีรายละเอียดของคำถามต่าง ๆ ที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการถามผู้ถูกสัมภาษณ์   ผู้สัมภาษณ์ทุกคนจะถามคำถามที่เหมือน ๆ กัน
3.2.2 เทคนิคการสัมภาษณ์ที่ดี
1) พยายามสร้างสถานการณ์ให้ดูเป็นการสนทนา
2) อย่าพูดจาเชิงสอนผู้ถูกสัมภาษณ์
3) หลีกเลี่ยงข้อความที่กระทบกระเทือนผู้ถูกสัมภาษณ์
4) ต้องมั่นใจว่าผู้ให้สัมภาษณ์เข้าใจคำถาม
5) อย่าใช้อารมณ์ในขณะสัมภาษณ์
6) ถ้าจะใช้เครื่องบันทึกเสียงต้องขออนุญาตผู้ให้สัมภาษณ์ก่อน
7) ควรมีคำถามที่ตรวจสอบคำตอบได้ด้วย โดยมิให้ผู้สัมภาษณ์รู้ตัว
8) กรณีที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบไม่ตรงประเด็น ต้องพยายามตะล่อมให้เข้าจุด
3.3 การสังเกต (Observation)
เป็นกระบวนการในการเก็บข้อมูล   โดยการบันทึกพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างในสถานการณ์เฉพาะ โดยอาศัยประสาทสัมผัสของผู้สังเกตเป็นหลัก ซึ่งควรได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว
3.3.1 ประเภทของการสังเกต
1) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม   (Participant Observation)
2) การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participant Observation)
3) การสังเกตแบบกึ่งมีส่วนร่วม (Quasi-participant Observation)
3.3.2 ลักษณะของแบบสังเกตที่นิยมใช้
1) แบบตรวจสอบรายการ (Checklist)    เป็นเครื่องมือที่ประกอบด้วยข้อความซึ่งระบุถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการประเมิน การบันทึกส่วนใหญ่จะเป็นการบันทึกว่ามีหรือไม่
2) แบบประเมินค่า (Rating Scale)   เป็นแบบสังเกตที่ใช้ในการประเมินของสิ่งที่สังเกต โดยการแปลงค่าในด้านคุณภาพให้อยู่ในรูปของตัวเลขหรือประมาณ โดยการจัดลำดับความมากน้อย เช่น การบันทึกพฤติกรรมการสอนของวิทยากร
3.4  การใช้แบบทดสอบ (Testing)
แบบทดสอบ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
3.4.1  แบบเลือกตอบ (Multiple choice item)  ลักษณะแบบทดสอบจะเป็นแบบมีคำถามและคำตอบหลายคำตอบให้เลือก ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีตัวเลือกประมาณ 35 ข้อ แต่จะมีข้อถูกเพียงข้อเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแบบทดสอบแบบเลือกตอบที่ใช้ในการสัมภาษณ์หรือใช้กับผู้ให้ข้อมูลที่มีความรู้น้อย ซึ่งแบบทดสอบที่ว่านี้จะเป็นแบบถูกกับผิด หรือมีกับไม่มี
3.4.2 แบบตอบสั้น (Short answer test) ลักษณะแบบทดสอบจะเป็นแบบที่ต้องการคำตอบจากผู้ตอบเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้เพื่อดูว่าผู้ตอบนั้นมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงใดกับเรื่องที่ถาม
3.4.3 แบบความเรียง (Essay test) ลักษณะของแบบทดสอบจะเป็นแบบที่ผู้ตอบสามารถตอบคำถามนั้นได้อย่างอิสระ การตอบจะตรงประเด็นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจของผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคน
4. การหาค่าความเที่ยงตรงของแบบสอบถาม (IOC)
การหาค่า IOC ของผู้เชี่ยวชาญจากการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแบบสอบถามการวิจัย  IOC คือ ค่าความเที่ยงตรงของแบบสอบถาม หรือค่าสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับวัตถุประสงค์ หรือเนื้อหา (IOC : Index of item objective congruence) ปกติแล้วจะให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในการตรวจสอบโดยให้เกณฑ์ในการตรวจพิจารณาข้อคำถาม ดังนี้
ให้คะแนน +1  ถ้าแน่ใจว่าข้อคำถามวัดได้ตรงตามวัตถุประสงค์
ให้คะแนน 0    ถ้าไม่แน่ใจว่าข้อคำถามวัดได้ตรงตามวัตถุประสงค์
ให้คะแนน -1   ถ้าแน่ใจว่าข้อคำถามวัดได้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์                                     
แล้วนำผลคะแนนที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญมาคำนวณหาค่า IOC ตามสูตร
4.1 เกณฑ์          
4.1.1  ข้อคำถามที่มีค่า IOC ตั้งแต่ 0.50-1.00 มีค่าความเที่ยงตรง ใช้ได้
4.1.2  ข้อคำถามที่มีค่า IOC ต่ำกว่า 0.50 ต้องปรับปรุง ยังใช้ไม่ได้
 4.2 วิธีการหาค่าความเที่ยงตรงของแบบสอบถาม (IOC)
ตัวอย่างเช่น ข้อคำถาม ข้อ 1 ผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน แต่ละท่าน ให้คะแนนมา คือ +1 ทั้ง 5 ท่าน     การหาค่าIOC  คือ  หาผลรวมของคะแนนในข้อ 1 โดยการบวก  1+1+1+1+1 เท่ากับ 5 คะแนน แล้วนำมาหารด้วยจำนวนผู้เชี่ยวชาญ คือ ผลรวมคะแนน/จำนวนผู้เชี่ยวชาญ เท่ากับ 5/5 = 1.00 จากนั้นนำผลไปเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จากผลการหาค่าความเที่ยงตรงของแบบสอบถาม IOC แสดงว่า ข้อคำถามมีความเที่ยงตรงสูงนำไปใช้ได้ส่วนข้ออื่น ๆ ก็ทำหลักการเดียวกันทั้งหมดทุกข้อคำถาม
กรณีผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน  ตัวอย่าง เช่น                                  
ผลคะแนน ทั้ง 5 ท่าน ได้ 5  คะแนน  = 1.00 มีค่าความเที่ยงตรง ใช้ได้   ผลคะแนน ทั้ง 5 ท่าน ได้ 4  คะแนน  =  0.8   มีค่าความเที่ยงตรง ใช้ได้  ผลคะแนน ทั้ง 5 ท่าน ได้ 3  คะแนน  =  0.6  มีค่าความเที่ยงตรง  ใช้ได้    ผลคะแนน ทั้ง 5 ท่าน ได้ 2  คะแนน  = 0.4  ค่าความเที่ยงตรงต่ำกว่า 0.50 ยังใช้ไม่ได้ ต้องปรับปรุง ผลคะแนน ทั้ง 5 ท่าน  ได้ 1 คะแนน  = 0.2 ค่าความเที่ยงตรงต่ำกว่า 0.50 ยังใช้ไม่ได้ ต้องปรับปรุง   

                                                               
อ้างอิง

ประชุม รอดประเสริฐ. (2535). การบริหารโครงกา. กรุงเทพฯ : เนติกุลการพิมพ์.
ปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์. (2539). การวิจัยประเมินผล :หลักการและกระบวนการ . กรุงเทพฯ : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

สำราญ  มีแจ้ง.  (2544).  สถิติชั้นสูงสำหรับการวิจัย. กรุงเทพฯ : นิชินแอดเวอร์ไทชิงกรุ๊ป  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การสื่อสารและการพัฒนา

โครงงาน