การศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิตกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวไทยมอแกน


ผู้วิจัย                 สถาบัน กศน.ภาคใต้
ปีที่วิจัย               2558
การศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิตกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวไทยมอแกนมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา เพื่อ  1) ศึกษาบริบทชุมชนและวิถีชีวิตของชาวไทยมอแกน 2) ศึกษาระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยมอแกน 3) ศึกษาระดับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวไทยมอแกน 4) เปรียบเทียบระดับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวไทยมอแกน และ 5) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบันของชาวไทยมอแกน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ตัวแทนครอบครัวของชาวไทยมอแกน จำนวน 59 ครัวเรือน และมีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่  เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ที่ชาวมอแกนตั้งถิ่นฐานอยู่ ได้แก่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบในหมู่บ้าน  ผู้บริหารศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคุระบุรี  และบุคลากรศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคุระบุรี เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการสรุปความ

ผลการศึกษาพบว่า
                1. บริบทของชาวไทยมอแกน ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณอ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ลักษณะบ้านเป็นใต้ถุนสูง เสาใช้ไม้โพธิ์ทะเล (โพธิ์เล) และไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน อยู่เป็นชุมชน มีระบบสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า/แสงสว่าง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการ การคมนาคม ใช้เรือยนต์เป็นพาหนะหรือที่เรียกว่าเรือหัวโทง
                2. วิถีชีวิตของชาวไทยมอแกน ด้านสุขภาพอนามัย พบว่า ชาวไทยมอแกนส่วนใหญ่มีอายุขัยไม่ยืนยาวนัก เนื่องจากการดำน้ำลึก การติดสารเสพติด เช่น ยาเส้น เหล้าขาว หรือสารกระตุ้นอื่น มีการทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า น้ำประปาด้วยน้ำจืด ทานข้าวเป็นอาหารหลัก และหันมาบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ขนมถุง และน้ำอัดลมกระป๋อง นอกจากนี้เด็กทารกก็มีการเปลี่ยนจากการดื่มนมแม่เป็นการทานนมผง  นิยมฟังเพลงจาก CD  หรือวิทยุ ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล ปัจจุบันจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอยู่ที่หมู่บ้านมอแกน 1 คนแต่ก็ยังคงรักษาด้วยวิถีพื้นบ้านควบคู่กันไป ไม่นิยมใช้ส้วมมากนัก  ด้านอาชีพ พบว่าปัจจุบันในช่วงฤดูการท่องเที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์ (เดือนพฤศจิกายน – เมษายน) ชาวไทยมอแกนส่วนหนึ่งจะหันมาประกอบอาชีพรับจ้างมากขึ้น โดยเป็นลูกจ้างของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ทั้งที่อ่าวช่องขาวและหาดไม้งาม ผู้หญิงจะทำงานในครัว เป็นแม่บ้าน ส่วนเด็กวัยรุ่นผู้ชายจะขับเรือรับส่งนักท่องเที่ยวไปดำน้ำปะการัง หรือไปเยี่ยมชนหมู่บ้านชาวไทยมอแกน แบกขนสิ่งของ ผู้สูงอายุจะอยู่ที่หมู่บ้าน ทำของที่ระลึก จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว บางครอบครัวก็จะตั้งเป็นร้านค้าขายเฉพาะของแห้ง  ชาวไทยมอแกน มีการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยไม่ทำร้าย ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ เต่าตะนุ หอยมุก ปะการัง ป่าไม้ หาปลาแค่พอกิน ตามมาตรการของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่แม้จะให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวน้อยลง คือ ความเคารพในวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ชาวไทยมอแกนจะใช้ภาษาถิ่นใต้ ภาษากลาง และภาษาอังกฤษเนื่องจากได้รับการศึกษามากขึ้น จนเป็นพลเมืองดีและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
3. ระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยมอแกนอยู่ในระดับปานกลาง โดยด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ ด้านการเป็นพลเมืองดี  ด้านอาชีพ ด้านสุขภาพอนามัย และด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
4. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวไทยมอแกนในอดีตและปัจจุบันโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 5 ด้านระหว่างอดีตและปัจจุบันโดยการนำเสนอผลข้อมูลโดยรวม พบว่า ด้านสุขภาพอนามัย ด้านอาชีพ ด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการเป็นพลเมืองดี ระดับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระหว่างอดีตและปัจจุบันแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อระหว่างอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
             5. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยมอแกนมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน อยู่ในระดับปานกลาง เป็นไปตามสมมุติฐานที่วางไว้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การสื่อสารและการพัฒนา

โครงงาน

การประเมินโครงการ