การสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรบุคคล (Recruitment and Selection)


กระบวนการและวิธีสรรหาทรัพยากรบุคคล 
          1. การสรรหาจากภายในองค์กร  เป็นการสรรหาบุคคลที่ผู้สมัครจากภายในองค์กรของตนเพื่อบรรจุหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ว่างอยู่ หรือที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ลาออก โยกย้าย แทนการประกาศรับบุคคลจากภายนอก โดยจะประกาศรับบุคคลที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ภายในองค์กรที่มีสมรรถนะหรือคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ให้มาสอบแข่งขัน ทดสอบ หรือเข้ารับการคัดเลือกเพื่อโยกย้าย หมุนเวียน หรือเลื่อนตำแหน่งตามวาระและความต้องกรในขณะนั้น  มีวิธีการดังนี้ 1) การปิดประกาศตำแหน่งที่ว่าง 2) การรับสมัครแข่งขันเพื่อบรรจุ 3) การแนะนำจากบุคลากรภายในองค์กร  4) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารทรัพยากรบุคคล
ข้อดี
1. ทำให้บุคลากรเห็นความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ และมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
2. สร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน สามารถสร้างพันธสัญญาทางใจต่อองค์กรและความพึงพอใจในงานได้เพิ่มขึ้น
3. รักษาบุคลารกให้ทำงานกับองค์กรในระยะยาว
4. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสรรหาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการสรรหาจากภายนอกและประหยัดเวลามากกว่า
5. บุคลากรที่ผ่านการสรรหาและคัดเลือกจะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเพราะมีความคุ้นเคยกับองค์กรดีอยู่แล้ว หรืออาจใช้เวลาไม่มากในการเรียนรู้และปรับตัว
          2. การสรรหาจากภายนอกองค์กร อาจทำได้โดย 1) ผู้สมัครเข้ามาสมัครด้วยตนเอง (Walk Ins)  2) เขียนจดหมายมาสมัครเอง (Write Ins) 3) การโฆษณาเพื่อรับสมัครงาน (Job Advertising) 4) การติดต่อกับสถาบันการศึกษา 5) การติดต่อกับตัวแทนจัดหางาน 6) การติดต่อกับบริษัทแสวงหาผู้บริหาร (Executive Search  Firms)  7) การจัดตลาดนัดแรงงาน (Job Fairs) 8) การแนะนำคนรู้จัก เช่น เพื่อนแนะนำเพื่อน เป็นวิธีที่ดีที่สุด
ข้อดี
1. องค์กรมีโอกาสคัดเลือกบุคคลที่ต้องการจากกลุ่มผู้สมัครในจำนวนที่มากกว่ากลุ่มผู้สมัครจากการสรรหาภายใน จึงมีความน่าจะเป็นสูงขึ้นที่จะได้ผู้ที่มีระดับทักษะ ความรู้ และความสามารถหรือสมรรถนะที่ยังไม่มีหรือที่แตกต่างในองค์กรเข้ามาช่วยเติมเต็ม
2. บุคคลจากแหล่งภายนอกจะมีประสบการณ์จากองค์กรอื่น จะทำให้องค์กรได้รับแนวคิดและวิธีการทำงานใหม่ ๆ เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เกิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลง เปิดโลกทัศน์ภายในให้กว้างขึ้น
ข้อจำกัด
1. ทำให้ขวัญและกำลังใจและพันธะสัญญาทางใจในการทำงานของพนักงานที่ทำงานอยู่เดิมต่ำลงเพราะไม่เห็นโอกาสก้าวหน้าของตน
2. พนักงานที่เข้ามาร่วมงานใหม่อาจไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงานในองค์กรหรือเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรที่อยู่ในปัจจุบันไม่ได้
3. สิ้นเปลืองเวลาและมีค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ในการรับสมัครคัดเลือกและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาค่อนข้างสูง
การสรรหาบุคลากรเป็นลักษณะการทำงานเต็มเวลา ซึ่งหากสรรหาไม่ได้มีวิธีการแก้ไขโดย 1) การทำงานล่วงเวลา (Overtime) 2) การจ้างงานชั่วคราว (Temporary Employment)  3) การขอเช่าบุคลากร (Employee Leasing) 4) การใช้ผู้รับเหมาช่วง (Subcontracting Outsourcing)  5) การใช้ผู้รับเหมาอิสระ (Independent Contractors)
         
เกณฑ์และเครื่องมือในการคัดเลือกทรัพยากรบุคคล
          การคัดเลือกบุคลากร  เริ่มเมื่อการสรรหาสิ้นสุดลง โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกดังนี้
1. ประวัติการศึกษาและการอบรม โดยดูความรู้ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ประวัติการฝึกอบรม เพราะแสดงถึงความสามารถทางสติปัญญาของบุคคล
2. ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการทำงาน แต่อย่าไปพิจารณาระยะเวลาเพราะการทำงานนานๆ ไม่ได้บ่งบอกความชำนาญ
3. ทักษะ การเลือกใช้เครื่องมือ สายตา เป็นต้น
4. สภาพร่างกาย เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ความแข็งแรง คล่องตัว
5. รูปลักษณ์ทางกาย รูปร่าง หน้าตา ความประณีต ความสะอาด
6. บุคลิกภาพ  ทั้งการแสดงออกทางความคิด การโต้ตอบ การแสดงอารมณ์ รสนิยม
7. เชาวน์ปัญญา ความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
8. ความถนัด ความรู้เฉพาะด้าน
9. ทัศนคติที่ดีต่อนายจ้าง การมองในแง่บวกหรือลบ
10. อายุ
11. เพศ
12. ความคาดหวังของผู้สมัคร ความชอบส่วนตัว หรือ การทำงานในภาคกลางคืน
13. สถานภาพทางเศรษฐกิจ เหมาะสม เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
เครื่องมือช่วยในการคัดเลือก
1. ใบสมัคร (Application Form)
2. การทดสอบเพื่อการจ้างงาน อาจเป็นการทดสอบข้อเขียนเพื่อทดสอบความรู้เชิงวิชาการ การทดสอบเชิงประสบการณ์ ทัศนคติ เจตคติ บุคลิกภาพ   การทดสอบทางจิตวิทยาในเรื่อง ความซื่อสัตย์ การมีปฏิสัมพันธ์ ความสามารถในการแก้ปัญหา บุคลิกภาพ  หรือ การลงมือปฏิบัติ เพื่อดูการใช้เครื่องมือ ความสามารถในการทำงาน เป็นต้น
3. การสัมภาษณ์ (Interview) อาจเป็น การสัมภาษณ์ตัวต่อตัว เป็นกลุ่ม โดยคณะกรรมการ
การสัมภาษณ์อาจเป็นการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ โดยดูบุคลิกและป้อนคำถาม และการสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ ซึ่งสามารถออกแบบให้มีความเฉพาะเจาะจง โดยผู้สัมภาษณ์ตั้งโจทย์ หรือกำหนดเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ขึ้นมาให้ผู้สมัครวิเคราะห์และนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาแบบเฉพาะเจาะจง  กำหนดบรรยากาศในการสัมภาษณ์ให้มีความดุดันเพื่อทดสอบสภาวะทางอารมณ์ว่ามีการแก้ไขสภาวการณ์กดดันได้อย่างไร  
เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรมโดยสัมภาษณ์ย้อนเวลาในอดีตและประเมินพฤติกรรมในอนาคต โดยให้เล่าเหตุการณ์ในอดีต ปัญหาการทำงานที่ยากที่สุดที่เคยพบ แก้ปัญหาอย่างไร คุยกับใครบ้าง ประสานงานกับใคร ได้ผลลัพธ์จากการคุยอย่างไร ในขณะนั้นแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่ และคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอใจ ชอบใจหรือไม่ งานเดินต่อไปได้หรือไม่ ทำอย่างไรต่อ  และผู้สัมภาษณ์ดูวิธีคิด พฤติกรรม ทัศนคติในการแก้ปัญหาอย่างไร

          การตัดสินใจรับเข้าทำงาน
หลังคัดเลือกแล้วก็ต้องแจ้งผล เสนอตำแหน่งงานและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ผู้สมัครพิจารณาเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าตอบแทนหรือเจรจาต่อรอง ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็ต้องแจ้งให้ทราบด้วย การได้บุคลากรที่ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการคัดเลือกที่ดี เข้มข้น มีตัวชี้วัด มีเกณฑ์ที่ดี

          การเริ่มงาน
          สิ่งที่องค์กรต้องดำเนินการ มีดังนี้
          1. การปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ เพื่อให้รู้จักองค์กร เรียนรู้และปรับตัวกับวัฒนธรรมองค์กร รู้จักเพื่อนร่วมงาน มีความประทับใจในการเริ่มต้นทำงาน มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรใหม่ เนื้อหาสำคัญได้แก่ ประวัติองค์กร ลักษณะองค์กร แนวทางการดำเนินงาน การแบ่งฝ่ายงาน บริการ โครงสร้างการทำงาน ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชา กฎ ระเบียบ นโยบาย กติกาในการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น
          2. ช่วงการทดลองงาน  เพื่อองค์กรประเมินความสามารถของบุคลากร และบุคลากรประเมินองค์กรว่าเป็นองค์กรที่เหมาะสมกับเขาหรือไม่ ปกติจะใช้ช่วงเวลา 90-119 วัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การสื่อสารและการพัฒนา

โครงงาน

การประเมินโครงการ