การฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Training and Development)


         ความหมายของการฝึกอบรมและพัฒนา
การฝึกอบรมและพัฒนา หมายถึง กรรมวิธีในการเพิ่มพูนสมรรถนะในการทำงานของบุคลารกทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญ และพฤติกรรม รวมถึงการส่งเสริมให้บุคลากรมีอุปนิสัย เจตคติ สำนึกรับผิดชอบและมีขวัญ กำลังใจที่ดีต่อการทำงาน อันจะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ความหมายของการฝึกอบรม หมายถึง การเพิ่มพูนความรู้ระยะสั้น เพื่อให้ทำงานเป็น ทำงานให้ดี ทำงานให้ดีขึ้น
ความจำเป็นของการฝึกอบรม บุคลากรต้องพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กร ดังนี้
          1. ไม่สถาบันการศึกษาใดๆ ที่สามารถผลิตคนให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถพร้อมที่จะทำงานในองค์กรต่างๆ  ได้ทันที องค์กรที่รับบุคลากรใหม่จึงต้องทำการขัดเกลา ปรับพื้นฐานหรือฝึกอบรมก่อนเริ่มการทำงาน
          2. สภาพแวดล้อมต่าง ๆมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น เศรษฐกิจ สังคม ความรู้ การแข่งขัน นโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์กร ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้องค์กรต้องหาทางทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถเรียนรู้ ปรับตัวและลงมือทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาแล้ว บุคลากรต้องสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในหน้าที่งานที่รับผิดชอบและก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยิ่งขึ้นไป
3. การที่องค์กรหนึ่ง ๆ ไม่มีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร ซึ่งความรู้มีค่าเสื่อมราคา เมื่อเวลาผ่านไปทักษะหรือความรู้หนึ่ง ๆ อาจล้าสมัยและใช่ไม่ได้ในสภาพการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป ดังนั้นการเพิ่มพูนสมรรถนะที่เหมาะสมแก่บุคลากรจึงเปรียบเสมือนการเพิ่มคุณค่าให้แก่ทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างต่อเนื่อง
การบริหารกระบวนการฝึกอบรม
1. วิเคราะห์ความต้องการหรือความจำเป็นในการฝึกอบรม ดูว่าองค์กรต้องการอะไร โดยดูจาก      กลยุทธ์ ทิศทาง นโยบายขององค์กร เพื่อจะได้รู้ว่าต้องเตรียมบุคลากรอย่างไรจึงจะพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย  การวิเคราะห์จากงานที่ทำอยู่ ศักยภาพของบุคลากรที่พึงเติบโตในวันข้างหน้า
2. กำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม ว่าต้องการเห็นอะไรเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
3.กำหนดและออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรม
4. การวางแผนและเตรียมการฝึกอบรม กลุ่มเป้าหมาย วิทยากร เวลา สถานที่ กระบวนการอบรม เป็นต้น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณ เวลา ทรัพยากรเกิดประโยชน์และเกิดผล
5. ดำเนินการฝึกอบรม ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องติดตาม กำกับ การตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์เพื่อสังเกต รับผลย้อนกลับ การถ่ายทอดของวิทยากร
6. การประเมินผลและติดตามผลการฝึกอบรม 
         
วิธีการฝึกอบรม
          เป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดเนื้อหา สาระ ความรู้ ประสบการณ์ จากผู้มีความรู้ไปยังผู้เรียนหรือบุคลากรในองค์กรได้  วิธีการอบรมที่นิยมกันได้แก่
          1. การบรรยาย ข้อดีคือสามารถถ่ายทอดได้ครั้งละจำนวนมาก  ข้อจำกัดคือ เป็นลักษณะการสื่อสารทางเดียว
          2. การอภิปราย วิทยากรทำหน้าที่เหมือนพิธีกรเปิดประเด็น ตั้งโจทย์ให้ผู้เรียนคิด ถกเถียงกัน และนำข้อมูลมาสรุป สอบถามความคิดเห็น ความพึงพอใจ เป็นองค์ความรู้ร่วมกัน
          3. การสัมมนา ผู้เข้าร่วมหลากหลายหน่วยงาน มาเรียนรู้ร่วมกันต่อยอดความรู้เดิมและได้ความรู้ใหม่ แสดงความคิดเห็น ถามข้อข้องใจ ร่วมกันแสวงหาคำตอบใหม่เพื่อพัฒนาตนเอง
          4. การสาธิต มักเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือและลงมือทำ
5. กรณีศึกษา ใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรมาเป็นประเด็นมาช่วยคิด ช่วยแก้
6. การแสดงบทบาทสมมติ เหมาะกับงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก
7. การศึกษาดูงานนอกสถานที่ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง เปิดโลกทัศน์มากขั้น นำข้อดีจากการเรียนรู้มาพัฒนางาน ทำให้บุคลากรเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
8. การฝึกปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง
9. เกมเพื่อการฝึกอบรม
         
การพัฒนาทรัพยากรบุคคล
          ต่างจากการฝึกอบรมตรงที่ระยะเวลา  การพัฒนาเพื่อให้บุคลากรมีประสบการณ์ ภูมิความรู้ วิธีคิดและเจตคติที่เหมาะสมในการทำงาน 
          วิธีการพัฒนาบุคลากร
          1. การเพิ่มคุณค่าในงาน (Job Enrichment) เป็นการเพิ่มเนื้อหาในงานให้ลึกขึ้น ให้มีคุณค่ามากขึ้น เช่น การวางแผนการดำเนินงาน วางแผนงบประมาณในงานนั้น ๆ
          2. การเพิ่มปริมาณงาน (Job Enlargement)  เป็นการทำงานให้มากขึ้น  เช่น การขยายพื้นที่ หรือขยายกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น ทำให้ปริมาณงานเพิ่มขึ้น กว้างขวางมากขึ้น
          3. การมอบหมายโครงการ (Project Assignment) เป็นกระบวนการที่ดีและได้รับความนิยมสูง เป็นการทำงานที่นอกเหนืองานปัจจุบัน มีความท้าทาย ยากมากขึ้น ใช้ทรัพยากรที่แตกต่าง มีงบประมาณ มีเวลา ทำให้ได้ฝึกฝนตัวเอง
4. การหมุนเวียนงาน (Job Rotation)  เป็นการเปลี่ยนแผนก เพื่อให้ได้เรียนรู้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
5. การเป็นวิทยากรภายใน (Internal Trainer)  ช่วยฝึกตัวเองในการเจอคนอื่น ตอบคำถาม แก้ปัญหา ถ่ายทอดความรู้
         
การประเมินผลการฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรบุคคล
          มีวิธีการทั้งหมด 3 วิธี ดังนี้
          1. การประเมินผลการปฏิบัติงานภายหลังจากการฝึกอบรมหรือพัฒนา  โดยอบรมไปแล้วประมาณ 30 วัน  โดยการสังเกต สอบถามหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้รับบริการ
          2. การประเมินผลการปฏิบัติงานก่อนและหลังจากการฝึกอบรมหรือพัฒนา ต้องเตรียมความพร้อมของการฝึกอบรมก่อน กำหนดเวลา วิธีการ เก็บข้อมูลก่อนอบรม ได้แก่ พฤติกรรม มารยาท อัธยาศัย ทักษะ การแสดงออก แล้วเทียบกับผลหลังอบรม
          3. การประเมินผลการปฏิบัติงานก่อนและหลังจากการฝึกอบรมหรือพัฒนาโดยเทียบกับตัวแปรควบคุม เช่น เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อบรม วิธีการทำงาน ผลลัพธ์ การตอบสนอง ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมหรือไม่อย่างไร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การสื่อสารและการพัฒนา

โครงงาน

การประเมินโครงการ